Drug name: อะมิโลไรด์-amiloride

Description:

อะมิโลไรด์ (Amiloride)

อะมิโลไรด์ (Amiloride)

Share:

Amiloride (อะมิโลไรด์) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการบวมน้ำ ภาวะท้องมาน ภาวะหัวใจล้มเหลว และควบคุมระดับความดันโลหิต โดยตัวยาจะขับน้ำและเกลือออกจากร่างกายผ่านการขับปัสสาวะ และลดการขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป นอกจากนี้อาจใช้รักษาภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

เกี่ยวกับยา Amiloride

กลุ่มยา ยาขับปัสสาวะ (Diuretic Drugs)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการบวมน้ำ ภาวะท้องมาน ภาวะหัวใจล้มเหลว และควบคุมระดับความดันโลหิต
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ 
รูปแบบของยา ยารับประทาน 
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยังไม่ทราบได้ว่าตัวยาจะปนเปื้อนไปกับน้ำนมหรือไม่

คำเตือนในการใช้ยา Amiloride

ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Amiloride มีดังนี้

  • แจ้งแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับอาการแพ้ยา ทั้งจากยาชนิดนี้ ยาในกลุ่มซัลฟาหรือยาชนิดอื่น ๆ และอาการแพ้สารต่าง ๆ โดยผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบของยา Amiloride ก่อนการใช้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เช่น ลิเทียม (Lithium) ยากดภูมิคุ้มกัน ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) ยารักษาโรคหัวใจ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังป่วยหรือเคยป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับและตับแข็ง ภาวะขาดน้ำ หรือภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) เนื่องจากยา Amiloride อาจทำให้อาการของโรคกำเริบหรือรุนแรงขึ้นได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังรับประทานอาหารลดเค็ม (Low-Salt Diet)
  • ห้ามใช้ยา Amiloride โดยเด็ดขาด หากเป็นผู้ที่มีปัญหาในการขับปัสสาวะ ผู้ป่วยภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่กำลังรับประทานโพแทสเซียมในรูปแบบอาหารเสริม หรือกำลังรับประทานยาขับปัสสาวะกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก (Potassium-Sparing Diuretics)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในระหว่างใช้ยา โดยเฉพาะหากมีอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำในระหว่างการใช้ยา เช่น มีเหงื่อออกมาก อาเจียน อุจจาระเหลว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงและร่างกายอาจสะสมน้ำมากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปควรใช้ยา Amiloride อย่างระมัดระวัง เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยในวัยนี้อาจไวต่อผลข้างเคียงจากยามากกว่าวัยอื่น ๆ
  • ปรึกษาแพทย์หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ รวมทั้งหากตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็วที่สุด
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไปหรือยาชนิดอื่น ๆ ในระหว่างการใช้ยา Amiloride
  • ยา Amiloride อาจทำให้ผิวของผู้ป่วยไวต่อแสง ทำให้ผิวไหม้จากแสงแดดได้ง่าย และหากสังเกตเห็นว่ามีอาการผิวไหม้แดดง่ายในระหว่างใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • การใช้ยา Amiloride อาจทำให้รู้สึกเวียนศรีษะ ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวหรือการใช้เครื่องจักร รวมทั้งควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้รู้สึกมึนหัวมากขึ้นได้

ปริมาณการใช้ยา Amiloride

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Amiloride ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

อาการบวมน้ำ (Edema)

ตัวอย่างการใช้ยา Amiloride เพื่อรักษาอาการบวมน้ำ

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5–10 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นแพทย์อาจปรับปริมาณยามากขึ้น โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน และหากใช้ยา Amiloride ร่วมกับยาขับปัสสาวะหรือยาลดความดันโลหิตชนิดอื่น ๆ ให้รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัม/วัน

ภาวะท้องมาน ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) และควบคุมระดับความดันโลหิต 

ตัวอย่างการใช้ยา Amiloride เพื่อรักษาภาวะท้องมาน ภาวะหัวใจล้มเหลว และควบคุมระดับความดันโลหิต

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นแพทย์อาจปรับปริมาณยาให้คงที่ 5–10 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Amiloride

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Amiloride ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับปริมาณยาเองหรือหยุดใช้ยาแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยา Amiloride ควรรับประทานพร้อมอาหาร
  • ปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณและชนิดของเครื่องดื่มที่ควรดื่มในระหว่างการใช้ยา Amiloride เพื่อป้องกันการดื่มน้ำในปริมาณที่น้อยหรือมากจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาก่อนนอนเพราะตัวยาอาจทำให้ผู้ป่วยปวดปัสสาวะตอนกลางคืนได้
  • เข้ารับการตรวจวัดระดับความดันโลหิตและตรวจเลือดตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดในระหว่างการใช้ยา
  • หากใช้ยา Amiloride เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารตามแพทย์แนะนำ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานควบคู่ไปด้วยในระหว่างการใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแล้วต้องใช้ยา Amiloride ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการใช้ยา
  • กรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้และรับประทานยาครั้งต่อไปตามช่วงเวลาเดิม แต่หากใกล้ถึงช่วงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไปเพียงมื้อเดียว รวมทั้งห้ามเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็นสองเท่าเพื่อทดแทน
  • หากใช้ยาเกินขนาดควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยจะพบอาการปากแห้ง กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว เวียนหัว อ่อนแรงหรือรู้สึกปวดที่มือหรือเท้า หายใจเร็ว เบ้าตาโบ๋ลึก เกิดตะคริว และปัสสาวะน้อยลง
  • เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิดและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากมือเด็ก ความชื้น ความร้อนและอากาศเย็นจัด หากยาหมดอายุควรนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Amiloride

โดยทั่วไป ยา Amiloride อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ เกิดผื่น คลื่นไส้ อาเจียน แสบหน้าอก เบื่ออาหาร มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง และท้องเสีย หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือผลข้างเคียงดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากมีอาการต่อไปนี้

  • มึนงงหรือหมดสติ
  • เจ็บหน้าอก
  • ผิวแห้ง คัน
  • กลืนหรือหายใจลำบาก
  • มีเหงื่อออกมาก
  • กระหายน้ำมากขึ้น
  • เกิดภาวะดีซ่าน (Jaundice) โดยตาและผิวหนังของผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ระดับโซเดียมในร่างกายลดต่ำลง โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดศรีษะ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง
  • เกิดภาวะขาดน้ำหรือภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น รู้สึกชาหรือเป็นเหน็บ หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดท้องหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ภาวะโซเดียมในเลือดสูง (Hypernatremia)
  • เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)