Drug name: famotidine-ฟาโมทิดีน

Description:

Famotidine (ฟาโมทิดีน)

Famotidine (ฟาโมทิดีน)

Share:

Famotidine (ฟาโมทิดีน) เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หลอดอาหาร รวมถึงโรคกรดไหลย้อนและกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์ เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) โดยช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง กลืนลำบาก เป็นต้น โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (Histamine-2 Blockers) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

เกี่ยวกับ Famotidine

กลุ่มยา ยาลดกรด
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้ทั่วไป
สรรพคุณ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน และกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

 

คำเตือนในการใช้ Famotidin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยาและประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 เช่น ยาไซเมทิดีน ยารานิทิดีน เป็นต้น
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากป่วยเป็นโรคตับ โรคไต มีประวัติคนในครอบครัวหรือตนเองเคยเป็นกลุ่มอาการระยะคิวทียาว (QT Syndrome) มะเร็งกระพาะอาหาร โรคหอบหืด มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือกระเพาะอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ หรือเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากยาได้อย่างรวดเร็ว
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารได้
  • อาการจุกแน่นลิ้นปี่หรือแสบร้อนกลางอกอาจคล้ายกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอย่างโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้น หากพบอาการแสบร้อนกลางอกร่วมกับ
  • อาการวิงเวียน เจ็บหน้าอก แขน ไหล่ หายใจผิดปกติ มีเหงื่อออกผิดปกติ หรือน้ำหนักลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • แม้ใช้ Famotidine เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แต่ผู้ป่วยก็ควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพควบคู่ไปด้วย จึงจะทำให้การรักษาได้ผลดี

ปริมาณการใช้ Famotidine

แผลในกระเพาะหรือลำไส้ และโรคกรดไหลย้อน

ยาฉีด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง โดยฉีดยาอย่างน้อย 2 นาที หรือหยดยาภายใน 15-30 นาที
  • เด็กอายุ 1-6 ปี ฉีดยาปริมาณ 0.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง โดยฉีดยาอย่างน้อย 2 นาที หรือหยดยาภายใน 15 นาที ปริมาณสูงสุด 40 มิลลิกรัม/วัน

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัมก่อนนอน หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ โดยปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการอยู่ที่ 20 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานก่อนนอน
  • เด็กอายุ 1-6 ปี รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานก่อนนอน หรือแบ่งเป็น 2 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุด 40 มิลลิกรัม/วัน

อาการแสบร้อนกลางอก

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง

อาการกรดไหลย้อน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม เป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ หากมีแผลในหลอดอาหาร อาจปรับปริมาณยาเป็น 40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือปริมาณยาสูงสุด 40 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
  • เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน รับประทานยาปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุด 40 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 3 เดือนถึง 1 ปี รับประทานยาปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือปริมาณยาสูงสุด 40 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 1-16 ปี รับประทานยาปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือปริมาณยาสูงสุด 40 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง

กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์เอลลิสัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง หรือปริมาณสูงสุด 800 มิลลิกรัม/วันหากจำเป็น

การใช้ Famotidine

  • อ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
  • รับประทานยาพร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้ และควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวันหรือตามที่แพทย์สั่ง
  • การรักษาอาจใช้เวลา 4-8 สัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด และแจ้งให้แพทย์ทราบหากหลังจาก 6 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้รวมกับยาตัวอื่น เช่น ยาไซเมทิดีน นิซาติดีน แรนิทิดีน เป็นต้น
  • ยานี้มีผลทำให้ความคิดและความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง จึงควรระมัดระวังในการขับรถ หรือการทำสิ่งที่ต้องใช้ความระมัดระวัง
  • หากต้องการใช้ยาอื่น ๆ รวมถึงวิตามินและสมุนไพรต่าง ๆ ควบคู่กับ Famotidine ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยเก็บให้ห่างจากความชื้น แสงแดด และไม่ควรเก็บไว้ในตู้เย็น หากเก็บยานั้นเกิน 30 วันก็ไม่ควรนำมาใช้

ผลข้างเคียงจากการใช้ Famotidine

การใช้ Famotidine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจทั่วได้ทั่วไป เช่น ปวดหัว เวียนหัว ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่อาการจะหายไปเองเมื่อร่างกายสามารถปรับตัวให้เข้ากับยาได้

อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการที่เป็นผลข้างเคียงรุนแรง เช่น

  • หัวใจเต้นเร็วร่วมกับอาการเวียนหัวอย่างรุนแรง
  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่วมกับมีไข้ อ่อนเพลียผิดปกติและปัสสาวะมีสีเข้มร่วมด้วย
  • เกิดอาการฟกช้ำได้ง่าย หรือมีเลือดออกผิดปกติ
  • การเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • อาการติดเชื้อที่ไม่หายขาด เช่น เจ็บคอ เป็นไข้ หนาวสั่น เป็นต้น
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น กระวนกระวาย สับสน ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน เป็นต้น
  • อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน บวมที่ใบหน้า ลิ้น คอ เวียนหัวรุนแรง หายใจลำบาก เป็นต้น