Drug name: acyclovir

Description:

Acyclovir (อะไซโคลเวียร์)

Acyclovir (อะไซโคลเวียร์)

Share:

Acyclovir (อะไซโคลเวียร์) เป็นยาในกลุ่มต้านเชื้อไวรัส ที่ช่วยในการชะลอการเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ (Herpes Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัด และโรคอีสุกอีใส เป็นยาที่ต้องใช้ภายในการควบคุมของแพทย์ และใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียง สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ แต่ห้ามใช้ในสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ 

เกี่ยวกับยา Acyclovir

กลุ่มยา ยาต้านไวรัส (Antiviral)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ชะลอการเติบโตและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ สาเหตุของโรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด และโรคเริม
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยาหยอด ยาทา และยาเม็ดรับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Acyclovir

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Acyclovir หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคไต หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไต ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นผลจากโรค หรือการใช้ยาอื่น ๆ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ยานี้สามารถใช้ได้ในสตรีมีครรภ์แต่ก็ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยาหากมีการตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยา
  • ยาชนิดนี้ห้ามใช้ในสตรีที่ให้นมบุตรเพราะตัวยาสามารถปนเปื้อนไปกับน้ำนมแม่และไปถึงทารกจนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิดได้
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่ระบบประสาท มีภาวะขาดออกซิเจน มีความผิดปกติของตับ หรือระดับเกลือแร่ในร่างกาย ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Acyclovir

ยาฉีด

ป้องกันโรคเริมในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • ผู้ใหญ่ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-7 วัน โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง
  • เด็ก อายุมากกว่า 3 เดือน-12 ปี ให้ครั้งละ 250 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ร่างกาย 1 ตารางเมตร ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-10 วัน โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

รักษาโรคไวรัสสมองอักเสบ (Herpes Simplex Encephalitis)

  • ผู้ใหญ่ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง
  • เด็ก อายุมากกว่า 3 เดือน-12 ปี ให้ครั้งละ 500 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ร่างกาย 1 ตารางเมตร ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-10 วัน โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

รักษาอาการโรคเริมที่อวัยวะเพศในครั้งแรก

  • ผู้ใหญ่ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-7 วัน โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

รักษาโรคงูสวัด

  • ผู้ใหญ่ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง
  • เด็ก อายุมากกว่า 3 เดือน-12 ปี ให้ครั้งละ 250 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ร่างกาย 1 ตารางเมตร ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-10 วัน สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 500 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ร่างกาย 1 ตารางเมตร ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-10 วัน โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

การติดเชื้อเริมในทารกแรกเกิด

  • เด็ก อายุ 0-3 เดือน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 10 วัน โดยให้ทางหลอดเลือดดำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง

ยาหยอดตา

รักษาอาการตาอักเสบจากเริม

  • ใช้ยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 3% หยดลงที่บริเวณขอบตาล่างติดต่อกัน 5 ครั้ง ต่อวันโดยห่างกัน ครั้งละ 4 ชั่วโมง และใช้ติดต่อไปอีกอย่างน้อย 3 วันเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

ยารับประทาน

รักษาโรคเริมที่กลับมาเป็นซ้ำ

  • ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 800 มิลลิกรัม โดยแบ่งเป็นวันละ 2-4 ครั้ง และสามารถลดขนาดลงเหลือ 400-600 มิลลิกรัม โดยการใช้ยาจะหยุดลงภายใน 6-12 เดือน เพื่อประเมินสภาพใหม่ หากเป็นการรักษาในระยะสั้น ๆ หรือในกรณีที่อาการกำเริบไม่บ่อย รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม 5 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 5 วัน

รักษาอาการโรคเริมในครั้งแรก

  • ผู้ใหญ่ 200 มิลลิกรัม 5 ครั้งต่อวัน หากกันทุก ๆ 4 ชั่วโมงขณะตื่น ติดต่อกัน 5-10 วัน สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง รับประทานวันละ 400 มิลลิกรัม 5 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 5 วัน
  • เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้ครึ่งหนึ่งของปริมาณผู้ใหญ่ หากอายุมากกว่า 2 ปี ใช้เทียบเท่าปริมาณของผู้ใหญ่

ป้องกันโรคเริมในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • ผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม 4 ครั้งต่อวัน
  • เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้ครึ่งหนึ่งของปริมาณผู้ใหญ่ หากอายุมากกว่า 2 ปี ใช้เทียบเท่าปริมาณของผู้ใหญ่

รักษางูสวัด

  • ผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม 5 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 7-10 วัน

รักษาโรคอีสุกอีใส

  • ผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม 4-5 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 5-7 วัน
  • เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม สูงสุดที่ 800 มิลลิกรัมต่อครั้ง รับประทาน 4 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน

ยาทา

รักษาอาการเริมที่ผิวหนังและริมฝีปาก

  • ผู้ใหญ่ ใช้ครีมความเข้มข้น 5% ทาวันละ 5-6 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน โดยเฉพาะช่วงระยะอาการนำ (Prodromal Period)

การใช้ยา Acyclovir

ยา Acyclovir เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำและใบสั่งแพทย์เท่านั้น โดยไม่ควรใช้ยามากกว่า หรือน้อยกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง ซึ่งยานี้สามารถเริ่มใช้ได้ทันทีที่มีอาการของไวรัสเฮอร์พีส์(Herpes) เกิดขึ้น เช่น ตุ่มน้ำ อาการแสบร้อน หรือรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ เหมือนเข็มตำที่บริเวณผิวหนัง

ทั้งนี้ปริมาณการใช้ยาในแต่ละครั้ง จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงควรรีบแจ้งแพทย์ เพื่อให้ปริมาณยาที่ใช้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด และในระหว่างการใช้ยา ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ไตยังสามารถทำงานได้เป็นปกติ

ควรใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้อาการของโรคนั้นดีขึ้นและหายเป็นปกติ และไม่ควรใช้ยาในการรักษาการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัด เป็นต้น

Acyclovir เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในสตรีมีครรภ์ แต่ก่อนการใช้ยาผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับทราบถึงประโยชน์รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาที่อาจส่งผลถึงบุตรได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเปรียบเทียบและตัดสินใจ สำหรับสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ยาชนิดนี้ถือเป็นยาที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากตัวยาอาจปนเปื้อนไปกับน้ำนมแม่ และส่งผลถึงบุตรได้

การเก็บรักษายาควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ห่างไกลจากความชื้นและความร้อน หากยามีลักษณะเปลี่ยนไปควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ในทันที

ผลข้างเคียงจากยา Acyclovir

โดยส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงของยา Acyclovir ที่สามารถพบได้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ความอยากอาหารลดลง รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ และหากเป็นยาชนิดฉีดก็อาจมีอาการบวมแดง และอักเสบบริเวณที่ฉีดยาได้

นอกจากนี้ยังมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการปรับสภาพร่างกายจากการใช้ยา เช่น

  • ในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  • ในการใช้ยาระยะยาวอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือปวดศีรษะ

ทว่าหากอาการเหล่านี้เริ่มรุนแรงขึ้น จนไปรบกวนกับการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ เกิดจุดเลือดสีแดงหรือสีม่วงใต้ผิวหนัง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะไม่ออก รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด เกิดอาการบวมที่ข้อเท้าและเท้า รู้สึกเหนื่อยง่าย และหายใจถี่ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • การป้องกันเริม
  • การรักษาเริม
  • การวินิจฉัยโรคเริม