Drug name: Chlorpromazine

Description:

Chlorpromazine (คลอร์โปรมาซีน)

Chlorpromazine (คลอร์โปรมาซีน)

Share:

Chlorpromazine (คลอร์โปรมาซีน) เป็นยาในกลุ่มฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) ที่นำมาใช้รักษา ความผิดปกติของจิตใจ อารมณ์ และสภาวะอื่น ๆ เช่น

  • กลุ่มโรคจิตเภทหรือโรคจิต ซึ่งเป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก อาการประสาทหลอน อาการก้าวร้าว และอาการหลงผิด
  • โรควิตกกังวลอย่างรุนแรง อาการสับสน กระสับกระส่าย หรือพฤติกรรมที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ในระยะฉับพลัน
  • กลุ่มโรคออทิสติกในเด็กหรือรักษาภาวะพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติในเด็ก
  • ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะรุนแรงของโรคต่าง ๆ   
  • อาการสะอึกต่อเนื่อง ที่หาสาเหตุไม่ได้   
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน
  • โรคพอร์ไฟเรียเฉียบพลัน (Acute Intermittent Porphyria) ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตเวชหรือระบบประสาทร่วมกับอาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน
  • ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นในการรักษาโรคบาดทะยัก

เกี่ยวกับยา Chlorpromazine

กลุ่มยา ยารักษาโรคจิต (Antipsychotics) หรือยาต้านอาเจียน (Antiemetics)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ โรคจิตเภทและโรคจิต บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน และสภาวะอื่น ๆ
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน(ชนิดเม็ดและแคปซูล) ยาฉีด ยาเหน็บทวารหนัก


คำเตือนของการใช้ยา Chlorpromazine

  • ห้ามรับประทานยานี้ในผู้ที่แพ้ยากลุ่มฟีโนไทอาซีน มีอาการง่วงซึมอย่างรุนแรง เพิ่งรับประทานแอลกอฮอล์หรือยาปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการง่วงซึม เช่น ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic Pain Medicines)   
  • ผู้ที่กำลังรับประทานยาในกลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่ อะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาเบรไทเลียม (Bretylium) ยาแอสเทมมีโซล (Astemizole) ยาคาเบอร์โกลีน (Cabergoline) โดฟีทิไลด์ (Dofetilide) เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาเพอร์โกไลด์ (Pergolide) ควินิดีน (Quinidine) ยาโซทาลอล (Sotalol) เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine) ยาทรามาดอล (Tramadol) ไม่ควรรับประทานยา Chlorpromazine
  • หญิงตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้
  • ควรแจ้งแพทย์ก่อนเสมอเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา อาการแพ้อื่น ๆ รวมถึงยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่กำลังรับประทานอยู่ในช่วงนั้น
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ โรคเลือด ปัญหาด้านไขกระดูก โรคตับหรือไต กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic Malignant Syndrome: NMS) กลุ่มอาการความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกาย (Tardive Dyskinesia: TD) โรคต่อมลูกหมากโต อาการชัก ความผิดปกติในการปัสสาวะ ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ เนื้องอกต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma) โรคมะเร็งบางชนิด หรืออาการเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ติดเหล้า ดื่มแอลกอฮอล์หนัก หรืออยู่ในภาวะถอนพิษสุรา ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานยาด้วยความระมัดระวัง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะผิดปกติอื่น ๆ อย่างโรคหอบหืด ต้อหินหรือเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน มีความผิดปกติของปอด ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้น โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน กลุ่มอาการเรย์ เพิ่งเข้ารับการฉีดสีและตรวจระบบไขสันหลัง (Myelography) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้เสมอ
  • ยาบางประเภทอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา Chlorpromazine ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ปริมาณการใช้ยา Chlorpromazine

ปริมาณการรับประทานยา Chlorpromazine จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ปัจจัยด้านสุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เนื่องจากเป็นยาที่รักษาได้หลายกลุ่มอาการ ซึ่งแพทย์ต้องมีการตรวจและประเมินผู้ป่วยก่อนให้ยา โดยตัวอย่างปริมาณการใช้ยา เช่น

ยาฉีด

  • โรคจิต
    • ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 25-50 มิลลิกรัม ฉีดซ้ำทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง หรืออาจเปลี่ยนเป็นยารับประทานทดแทนได้
    • เด็กอายุ 1-12 ปี: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ  500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่ควรเกิน 75 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี และไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี)
    • ผู้สูงอายุ: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อด้วยขนาดเริ่มต้น ⅓ -½ ของปริมาณการใช้สำหรับผู้ใหญ่
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน
    • ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อด้วยขนาดเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม ฉีดเพิ่ม 25-50 มิลลิกรัม ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง จนกว่าจะหยุดอาเจียน
    • เด็กอายุ 1-12 ปี: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่ควรเกิน 75 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี และไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี)
    • ผู้สูงอายุ: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อด้วยขนาดเริ่มต้น ⅓ -½ ของปริมาณการใช้สำหรับผู้ใหญ่

ยารับประทาน

  • โรคจิต
    • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทาน 75 มิลลิกรัม วันละครั้งก่อนนอน จากนั้นเพิ่มขนาดยาเป็น 25-100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 1 กรัมต่อวัน
    • เด็กอายุ 1-12 ปี: รับประทาน 500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่ควรเกิน 75 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี และไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี)
    • ผู้สูงอายุ: รับประทานด้วยขนาดเริ่มต้น ⅓ -½ ของปริมาณการใช้สำหรับผู้ใหญ่
  • อาการสะอึกที่ควบคุมรักษายาก
    • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 25-50 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นอาจฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 25-50 มิลลิกรัม หรือให้ยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ 25-50 มิลลิกรัม โดยเจือจางด้วยน้ำเกลือ  500-1,000 มิลลิลิตร
    • เด็กอายุ 1-12 ปี: รับประทาน 500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่ควรเกิน 75 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี และไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี)
    • ผู้สูงอายุ: รับประทานด้วยขนาดเริ่มต้น ⅓ -½ ของปริมาณการใช้สำหรับผู้ใหญ่

ยาเหน็บทวารหนัก

  • โรคจิต
    • ผู้ใหญ่: เหน็บยาขนาด 100 มิลลิกรัม ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง

การใช้ยา Chlorpromazine  

หากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัวเดิม หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อนการรับประทาน Chlorpromazine รวมถึงรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือข้อบ่งใช้บนฉลากผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ในกรณีที่เป็นยาเม็ดจะรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหาร แต่ควรเป็นเวลาเดิมของทุกวัน เพื่อช่วยป้องกันการลืมรับประทานยา รวมถึงไม่ควรแบ่งหรือหักยา ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกลืนสามารถปรึกษาแพทย์ให้ช่วยเปลี่ยนยาเป็นรูปแบบอื่น  

ในกรณีที่ลืมรับประทานยา Chlorpromazine ควรรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปแทน แต่ไม่ควรเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า หากเกิดความผิดปกติหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Chlorpromazine  

ยา Chlorpromazine อาจไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือมีผลเล็กน้อยหลังรับประทาน เช่น กระสับกระส่าย ท้องผูก วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม ปากแห้ง รูม่านตาขยาย อาการสั่นรัวหรือกระตุก คลื่นไส้ น้ำมูกไหล ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย หากพบว่าอาการรุนแรงขึ้นหรือเป็นติดต่อกันนานจนกระทบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์    

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงหลังการรับประทานยาตัวนี้ ควรไปพบแพทย์ทันทีหลังเกิดอาการต่าง ๆ ดังเช่น  

  • มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ทำให้วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ เกิดผื่นแดง คัน และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า คอ ลิ้น ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์
  • เจ็บหน้าอก
  • มีความรู้สึกสับสน ความรู้สึกตัวลดลง
  • หัวใจเต้นผิดปกติ เต้นเร็วหรือเต้นช้าลง
  • กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า คอ และหลังชักกระตุก
  • ชาตามแขนและขา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้
  • มีสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้น เจ็บคอ เป็นต้น
  • ตับผิดปกติ โดยจะพบว่ามีอาการดีซ่าน ปัสสาวะเป็นสีดำ อุจจาระเป็นสีอ่อน คลื่นไส้รุนแรง ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง
  • เหงื่อออกผิดปกติ
  • มีปัญหาในการมองเห็น มองไม่ชัด

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Adjustment Disorders (ภาวะการปรับตัวผิดปกติ)
  • Tardive Dyskinesia
  • กลุ่มอาการวิลเลียม (Williams Syndrome)