Drug name: moxifloxacin

Description:

Moxifloxacin (มอกซิฟลอกซาซิน)

Moxifloxacin (มอกซิฟลอกซาซิน)

Share:

Moxifloxacin (มอกซิฟลอกซาซิน) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ไซนัสหรือโพรงอากาศข้างจมูก ปอด กระเพาะอาหาร เป็นต้น

เกี่ยวกับ Moxifloxacin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาใช้เฉพาะที่ ยาฉีด

 

คำเตือนในการใช้ Moxifloxacin

  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้ยาและประวัติการแพ้อื่น ๆ
  • ไม่ใช้ยาหากแพ้ยานี้หรือแพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนชนิดอื่น ๆ เช่น ไซโปรฟลอกซาซิน ลีโวฟลอกซาซิน นอร์ฟลอกซาซิน เป็นต้น
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการใช้ยาทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้ยาทีโอฟิลลีน ยาขับปัสสาวะ ยาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ ยารักษาภาวะซึมเศร้า ยากลุ่มเอ็นเสด
  • ไม่ใช้ Moxifloxacin เมื่อมีอาการไข้หวัดทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะยา Moxifloxacin อาจทำให้เอ็นกล้ามเนื้อบวมและฉีกขาดได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเอ็น ไขข้อ ข้อต่อโดยเฉพาะในเด็ก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ และมีอาการชัก
  • ยา Moxifloxacin อาจทำให้ความคิดและความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง จึงควรระมัดระวังในการขับรถหรือการใช้เครื่องจักรขณะใช้ยานี้
  • ไม่ควรใช้ยา Moxifloxacin ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ขณะให้นมบุตร เพราะยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมแม่และเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดและการอาบแดด เนื่องจากยา Moxifloxacin อาจทำให้ผิวไหม้จากแดดได้ง่าย จึงควรใช้ครีมกันแดดหรือใส่เสื้อที่ช่วยป้องกันแสงแดดในระหว่างที่ใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ Moxifloxacin

ปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันตามอายุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน  

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาหยดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 60 นาที เป็นเวลา 10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7-10 วัน

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาหยดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 60 นาที เป็นเวลา 5-10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5-10 วัน

โรคปอดอักเสบชุมชน (Community-Acquired Pneumonia)  

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาหยดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 60 นาที เป็นเวลา 7-14 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7-14 วันเช่นกัน

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย

เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ หยอดยาลงในตาข้างที่มีอาการ 1 หยด โดยใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วั

การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง

ผู้ใหญ่

  • การติดเชื้อแบบซับซ้อน ให้ฉีดยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาหยดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 60 นาที หรือรับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7-21 วัน
  • การติดเชื้อแบบไม่ซับซ้อน ให้ฉีดยาหรือรับประทานยาในปริมาณเท่ากันกับการติดเชื้อแบบซับซ้อน เป็นเวลา 7 วัน

การติดเชื้อในช่องท้อง

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยให้ยาหยดเข้าเส้นเลือดดำภายใน 60 นาที เป็นเวลา 5-14 วัน

การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

ผู้ใหญ่ รับประทานยานี้ร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่น ๆ ปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

การใช้ Moxifloxacin

  • อ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
  • เมื่อรับประทานยา Moxifloxacin ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป
  • รับประทานยาพร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้ และควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวันหรือตามที่แพทย์สั่ง
  • หากรับประทานยานี้ร่วมกับยาบางชนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ซึ่งหากใช้ยาตัวอื่นอยู่ ควรรับประทานยา Moxifloxacin ก่อน 4 ชั่วโมง หรือหลัง 8 ชั่วโมงจากการใช้ยาตัวอื่น เช่น ยาลดกรด ยาไดดาโนซีน วิตามิน หรือแร่ธาตุอื่น ๆ เป็นต้น
  • ไม่ควรรับประทานยา Moxifloxacin คู่กับนม โยเกิร์ต หรือน้ำผลไม้ เนื่องจากจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • รับประทานยาให้ตรงตามเวลาและครบตามที่แพทย์กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันภาวะเชื้อดื้อยา
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นแม้ป่วยด้วยอาการเดียวกันก็ตาม
  • หากลืมรับประทานยาตามกำหนด เมื่อนึกขึ้นได้ให้รับประทานยาทันที หากเป็นเวลาใกล้กับยาครั้งถัดไปก็ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาและปริมาณปกติ ไม่ต้องเพิ่มยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดไป
  • หากมีอาการท้องเสีย อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าติดไวรัสตัวใหม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียเอง
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้นและความร้อน

ผลข้างเคียงจากการใช้ Moxifloxacin

การใช้ยา Moxifloxacin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เวียนหัว ปวดหัว
  • ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นเลือด
  • เจ็บที่กล้ามเนื้อ ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • รู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ เจ็บคอ เป็นแผลในปาก
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น รู้สึกสับสน ซึมเศร้า หวาดระแวง นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • ไม่อยากอาหาร
  • ตับมีปัญหา ปวดช่วงบนของท้อง ดีซ่าน
  • รู้สึกปวด แสบร้อน ไวต่อแสง
  • ความดันภายในศีรษะเพิ่มขึ้น ได้ยินเสียงหวี่ในหู การมองเห็นผิดปกติ
  • เอ็นบวม ตึง ฉีกขาด หรือเอ็นอักเสบ และอาจมีปัญหาในการเคลื่อนไหว
  • อาจเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเส้นประสาทชั่วคราวหรือถาวร
  • หายใจเร็วและถี่ มีอาการชัก

ทั้งนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการภูมิแพ้ เช่น หายใจลำบาก ลมพิษ คอบวม หน้าบวม เป็นไข้ เจ็บคอ ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือม่วง เป็นผื่นพองและลอก เป็นต้น
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ