Drug name: ibandronate-sodium

Description:

Ibandronate Sodium (ไอแบนโดรเนท โซเดียม)

Ibandronate Sodium (ไอแบนโดรเนท โซเดียม)

Share:

Ibandronate Sodium (ไอแบนโดรเนท โซเดียม) หรือ Ibandronate (ไอแบนโดรเนท) เป็นยาที่ใช้รักษาหรือป้องกันโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนหรือผู้ที่รับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ลดการละลายและการเสื่อมสลายของกระดูก บางกรณีอาจนำมาใช้รักษาภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

เกี่ยวกับยา Ibandronate Sodium

กลุ่มยา กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
และผู้ให้นมบุตร
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ และถึงแม้จะยังไม่มีข้อยืนยันถึงอันตรายในการให้นมบุตรในระหว่างใช้ยา แต่มารดาควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อทารก

คำเตือนในการใช้ยา Ibandronate Sodium

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะภาวะระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคไตขั้นรุนแรง มีความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดอาหาร อย่างโรคกรดไหลย้อน หลอดอาหารตีบ มีแผลบริเวณกระเพาะอาหารหรือลำไส้ มีภาวะกลืนลำบากหรือเจ็บขณะกลืนอาหาร เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถยืนหรือนั่งตัวตรงได้นานเกิน 60 นาที เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นจะต้องอยู่ในท่านั่งตรงอย่างน้อย 60 นาที หลังการรับประทานยา
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมไปถึงอาการแพ้อื่น ๆ 
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงยา อาหารเสริม วิตามิน หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นต้น
  • ไม่ควรรับประทานยาหรือวิตามินบางชนิดพร้อมกับการใช้ยา Ibandronate Sodium โดยเฉพาะยาหรือวิตามินที่ประกอบไปด้วยแมกนีเซียม แคลเซียม อลูมิเนียม ธาตุเหล็ก หรือแร่ธาตุใด ๆ ที่อาจส่งผลต่อการดูดซึมและการออกฤทธิ์ของยานี้ เช่น ยาควินาพริล (Quinapril) ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) ยาลดกรด ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำแร่ เป็นต้น โดยห้ามรับประทานยา วิตามิน หรืออาหารดังกล่าวหลังจากการรับประทานภายใน 1 ชั่วโมงหลังการใช้ยาไอแบนโดรเนท
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีความผิดปกติอย่างรุนแรงเกี่ยวกับกระดูก ข้อ หรือกล้ามเนื้อขณะใช้ยา
  • ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและรีบพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการผิดปกติหลังการใช้ยา เช่น มีความผิดปกติบริเวณท้องหรือระบบทางเดินหายใจ เจ็บหน้าอก มีอาการแสบอกครั้งแรกหรือมีอาการที่รุนแรงกว่าปกติ เจ็บขณะกลืน เป็นต้น
  • แพทย์จำเป็นจะต้องตรวจช่องปากของผู้ป่วยก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาไอแบนโดรเนท โซเดียมอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อฟันและกระดูกขากรรไกรล่าง และผู้ป่วยแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่าใช้ยาดังกล่าวก่อนการรักษาช่องปาก
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์ทราบขณะใช้ยาไอแบนโดรเนท โซเดียม โดยเฉพาะการผ่าตัดในช่องปาก 
  • เลิกหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง 
  • แพทย์อาจทำการตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อตรวจหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • ผู้ป่วยควรรับคำแนะนำในการใช้ยาขณะตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนตั้งครรภ์ในอนาคต เนื่องจากอาจมียาตกค้างอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน รวมถึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์และต่อมารดาขณะตั้งครรภ์

ปริมาณการใช้ยา Ibandronate Sodium

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน
ตัวอย่างการใช้ยา Ibandronate Sodium เพื่อรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน 

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 2.5 มิลลิกรัมทุกวันในช่วงเช้า หรือรับประทานเดือนละ 150 มิลลิกรัมในวันเดียวกันของทุกเดือน

ยาฉีด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดเข้าเส้นเลือดดำปริมาณ 3 มิลลิกรัม ทุก 3 เดือน โดยแต่ละครั้งใช้เวลาในการให้ยานานกว่า 15-30 วินาที

การใช้ยา Ibandronate Sodium

วิธีการใช้ยา Ibandronate Sodium อย่างปลอดภัย มีดังนี้

  • ผู้ที่ใช้ยาฉีด จะต้องให้แพทย์ พยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ฉีดให้เท่านั้น
  • ยาชนิดรับประทานยาควรปฏิบัติตามตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับประทานปริมาณที่มากหรือหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • รับประทานยาพร้อมน้ำเปล่าเท่านั้น ห้ามรับประทานยาพร้อมน้ำแร่ น้ำวิตามิน ชา กาแฟ นม อาหารหรือเครื่องดื่มใด ๆ  
  • ควรรับประทานยาในตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนรับประทานยาชนิดอื่นอย่างน้อย 60 นาที
  • ผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ
  • ผู้ป่วยควรตรวจและดูแลสุขภาพช่องปากอยู่เสมอ หากเจ็บบริเวณขากรรไกรล่างควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากในตอนเช้าผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้ข้ามการรับประทานยาของวันนั้นและรับประทานยาในเช้าของวันต่อมาโดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทน ในกรณีที่รับประทานเดือนละ 1 ครั้ง ให้กลับมารับประทานยาตามตารางเดิมในวันที่กำหนด หากกำหนดรับประทานยาครั้งถัดไปคือภายในเวลาที่น้อยกว่า 7 วัน ให้รอจนถึงรอบที่ต้องรับประทานครั้งถัดไปโดยไม่ต้องรับประทานยา ห้ามรับประทานยา 2 ครั้งภายในสัปดาห์เดียวกัน
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยลืมเข้ารับการฉีดยา ให้นัดแพทย์ทันท
  • ห้ามหยุดยาด้วยตนเอง
  • หากมีการใช้ยาเกินขนาด ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง และมีอาการแสบอก ให้ดื่มนม 1 แก้วและเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลทันที ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจให้เรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนหรือจับให้ผู้ป่วยนอนราบ
  • เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิดและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ห่างจากความชื้น ความร้อน และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ibandronate Sodium

โดยทั่วไปยา Ibandronate Sodium อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องปั่นป่วน ท้องเสีย ปวดแขนและขา ปวดศีรษะ หรือมีอาการคล้ายมีไข้อ่อน ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปเองเนื่องจากร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับยาได้ในระหว่างการรักษา และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่หายไป เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ หรือมีความรุนแรงของอาการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดการใช้ยาและพบแพทย์ทันทีหากมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง ดังนี้ 

  • อาการแพ้ยารุนแรง เช่น มีผื่นแดง มีอาการคัน หายใจลำบาก วิงเวียนอย่างรุนแรง กลืนลำบาก บวมบริเวณปาก หน้า หรือมือ เป็นต้น
  • เกิดความผิดปกติของทางเดินอาหาร มีอาการแสบอกอย่างรุนแรง
  • หลอดลมอักเสบ เจ็บบริเวณหน้าอก หายใจลำบาก
  • ไอเป็นเลือด
  • เจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณกระดูก ข้อ หรือกล้ามเนื้อ
  • ปวดสะโพกหรือปวดต้นขาผิดปกติ
  • การมองเห็นผิดไปจากปกติ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากผู้ป่วยรายใดมีความกังวลใจ รวมทั้งพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กระดูกสะโพกหัก
  • กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (PWS)
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia)