Drug name: Epinephrine

Description:

Epinephrine (อิพิเนฟริน)

Epinephrine (อิพิเนฟริน)

Share:

Epinephrine (อิพิเนฟริน) หรืออะดรีนาลีน (Adrenaline) เป็นยาที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยมักใช้รักษาภาวะแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น แมลงกัดต่อย แพ้อาหารและยา หรือสารชนิดอื่น รักษาภาวะช็อกหรือความดันโลหิตต่ำรุนแรง ใช้กระตุ้นการทำงานของหัวใจเมื่อหัวใจหยุดเต้น  

นอกจากนี้ ยังใช้รักษาอาการหรือภาวะอื่น ๆ เช่น หายใจสั้น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบากจากโรคหอบหืด หรือโรคถุงลมโป่งพอง รักษาอาการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจที่เกิดจากการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลม (Croup) บางครั้งอาจใช้ผสมกับยาชา เพื่อทำหัตถการต่าง ๆ ทางการแพทย์ หรือใช้ผสมกับยาเม็ดชนิดอื่น เช่น ทำเป็นยาหยอดตารักษาภาวะความดันในลูกตาสูงหรือรักษาต้อหินบางชนิด เป็นต้น

Epinephrine จัดเป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในทางการแพทย์ เพื่อให้คล้ายคลึงกับฮอรโมนอะดรีนาลีนที่ร่างกายสร้างได้จากต่อมหมวกไต โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นแอลฟา-รีเซพเตอร์ (Alpha Receptor) หรือเบต้า-รีเซพเตอร์ (Beta Receptor) เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจคลายตัวหรือหลอดเลือดตีบตัว ทำให้หายใจได้สะดวก ช่วยเพิ่มความดันโลหิต รวมถึงกระตุ้นการทำงานของหัวใจ

เกี่ยวกับยา Epinephrine

กลุ่มยา ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic Drug)
ประเภทยา ยาหาซื้อได้เอง ยาตามคำสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจ โรคหอบหืด อาการแพ้รุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาพ่น ยาฉีด ยาหยอดตา


คำเตือนของการใช้ยา Epinephrine

  • ห้ามใช้ยา Epinephrine กับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย โรคต้อหินแบบมุมปิด ภาวะภูมิแพ้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็วผิดปกติ หรือใช้ร่วมกับยาชาที่ฉีดเข้าบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า หู จมูก และอวัยวะเพศ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต โรคความดันโลหิตสูง และโรคพาร์กินสัน
  • ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงให้นมบุตรหรือวางแผนจะมีบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเสมอ  
  • ในระหว่างการใช้ยา Epinephrine ห้ามขับขี่ยานพาหนะ ทำงานกับเครื่องจักรกล หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะตัวยาทำให้เกิดอาการมึนงง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน  
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) หรือยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitor (MAOI) ควรเว้นระยะอย่างน้อย 14 วัน ก่อนใช้ยา Epinephrine
  • ยา Epinephrine อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเมื่อใช้ควบคู่กับยาบางกลุ่ม เช่น ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitor (MAOI) หรือกลุ่ม Tricyclic Antidepressants ยาโบรโมคริปทีน (Bromocriptine) ยากลุ่มแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (Catechol-O-Methyltransferase (COMT) Inhibitors) ยาไดจอกซิน (Digoxin) หรือยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • การใช้ยา Epinephrine ควบคู่กับยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ยาดรอกซีโดปา (Droxidopa) หรือฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) อาจส่งผลต่อความดันโลหิต (ความดันสูงหรือต่ำลง) และการเต้นของหัวใจ (เต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ) จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ
  • ไม่ควรใช้ยา Epinephrine พร้อมกับยากัวเนธิดีน (Guanethidine) เพราะอาจลดประสิทธิภาพยา Epinephrine ลง
  • ห้ามใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาทดลองที่แน่ชัดถึงประสิทธิผลของการใช้ยา Epinephrine ในเด็ก

ปริมาณการใช้ยา Epinephrine

โรคหืดที่มีอาการรุนแรง

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นใต้ผิวหนัง (1:1,000) 0.3-0.5 มิลลิกรัม (300-500 ไมโครกรัม) และให้ยาซ้ำเมื่อจำเป็นทุก ๆ 5-10 นาที
  • เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นใต้ผิวหนัง (1:1,000) 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (10 ไมโครกรัม) ขนาดยาสูงสุดไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัม (500 ไมโครกรัม)

ควบคุมดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อก

  • ผู้ใหญ่ : ฉีดยาหลอดเลือดดำ (1:1,000 หรือหรือ 0.1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) 0.5-2 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อนาที และอาจเพิ่มขนาดยาขึ้น 0.05-2 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อนาที ตามค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ย (Mean Arterial Pressure: MAP) ทุก ๆ 10-15 นาที

ภาวะความดันตาสูงหรือโรคต้อหินชนิดมุมเปิด

  • ผู้ใหญ่: ยาหยอดตา ความเข้มข้น 0.5%, 1% หรือ 2% หยอดตาวันละ 1-2 ครั้ง

อาการแพ้แบบรุนแรง

  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปีและผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (1:1,000) 0.3-0.5 มิลลิลิตร (300-500 ไมโครกรัม) และให้ยาซ้ำเมื่อจำเป็นทุก ๆ 5 นาที จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • เด็กอายุ 6-12 ปี:  ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (1:1,000) 0.3 มิลลิลิตร (300 ไมโครกรัม)
  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (1:1,000) 0.01 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)

ภาวะหัวใจหยุดเต้น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (1:10,000 หรือ 0.1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) 10 มิลลิลิตร โดยฉีดยาเริ่มต้น 1 มิลลิกรัม และให้ยาซ้ำทุก ๆ 3-5 นาที หรือฉีดเข้าไขกระดูกด้วยขนาดยาเท่ากัน หรือให้ยาผ่านทางท่อช่วยหายใจโดยเพิ่มขนาดยาเป็น 2-3 เท่าของขนาดยาที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • เด็ก: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (1:10,000) ขนาด 0.1 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) และฉีดยาซ้ำเมื่อจำเป็นทุก ๆ 3-5 นาที หรือฉีดเข้าไขกระดูกด้วยขนาดยาเท่ากัน หรือให้ยาผ่านทางท่อช่วยหายใจ 0.05-0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สารละลาย 1:10,000)

นอกจากนี้ ยังใช้รักษาภาวะอื่น ๆ เช่น นำมาใช้ในรูปแบบยาพ่น เพื่อรักษาภาวะหลอดลมและกล่องเสียงอักเสบในเด็กหรือโรคครู้ป (Croup) โดยพ่นยา Epinephrine (1:1,000) 0.05-0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม สำหรับขนาดสูงสุดในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ต้องพ่นยา 2.5 มิลลิลิตรต่อครั้ง โดยต้องเจือจางในน้ำเกลือ ความเข้มข้น 0.9% ให้ได้ยาปริมาณ 3 มิลลิลิตรก่อนใช้ ซึ่งจะได้ผลภายในครึ่งชั่วโมง อาจให้ยาซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมง หรือถี่กว่านั้นหากจำเป็น

การใช้ยา Epinephrine

ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา สมุนไพร อาหารเสริม หรือยาทุกชนิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเสมอ ตัวยามีอยู่หลายรูปแบบ แต่ในประเทศไทยมักจะใช้ยา Epinephrine ในรูปแบบยาฉีด ซึ่งจะใช้เฉพาะภายในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่หากเป็นยาชนิดพ่นหรือหยอดตาควรใช้ตามแพทย์กำหนดและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากกำกับการใช้ยา

ในกรณีที่ลืมใช้ยา ควรรีบใช้ยาทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปใช้ยาของรอบถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า เนื่องจากการใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนดหรือใช้ติดต่อเป็นเวลานานนอกเหนือคำสั่งแพทย์อาจส่งผลให้เกิดอาการดื้อยา หากเกิดความผิดปกติหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์  

การเก็บยา ควรเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ในที่ที่พ้นจากมือเด็ก รวมไปถึงไม่ควรนำยาที่หมดอายุมารับประทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Epinephrine

ยา Epinephrine อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีปัญหาในการนอน ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ มีอาการทางประสาท วิตกกังวล ใจสั่น ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาที่พบได้บ่อย หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม บางรายควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่ออาการรุนแรงกว่าเดิมหลังการใช้ยา ชาตามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ตัวแดง หรือมีอาการแพ้ยาตามมา ซึ่งสังเกตได้จากการเกิดผื่นตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน หายใจลำบากหรือมีเสียงวี๊ด ๆ แน่นหน้าอก มีอาการบวมตามใบหน้า ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น      

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ช็อก
  • ต้อหิน
  • ภาวะช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic Shock)