Drug name: อีลีทริปแทน

Description:

อีลีทริปแทน

อีลีทริปแทน

Share:

Eletriptan (อีลีทริปแทน)  เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนและบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไมเกรน เช่น ความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น โดยจะออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนินในสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดในสมองหดตัวแคบลง ทั้งยังส่งผลต่อเส้นประสาทในสมองบางชนิด ทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลงด้วย อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันหรือลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนได้ 

เกี่ยวกับยา Eletriptan

กลุ่มยา ยาแก้ปวดไมเกรน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Eletriptan

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • ผู้ป่วยโรคตับ ความดันโลหิตสูง หรือไมเกรนชนิดที่มีอาการทางระบบประสาทควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเคยมีปัญหาสุขภาพ เช่น เจ็บหน้าอก ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของหลอดเลือดหัวใจ สมอง ลำไส้และไต หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Wolff-Parkinson-White เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • หากผู้ป่วยใช้ยากลุ่มทริปแทนชนิดอื่น ๆ ยากลุ่มเออร์กอต หรือยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา Eletriptan
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้หากมีการใช้ยาคลาริโทรมัยซิน ยาไอทราโคนาโซล ยาคีโตนาโซล ยาเนลฟินนาเวียร์ หรือยาริโทนาเวียร์ ภายใน 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้เครื่องจักรหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เพราะยานี้อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • ผู้สูงอายุควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้สูง
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง น้ำหนักตัวมาก ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป บุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก่อนวัยอันควร หญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร 

ปริมาณการใช้ยา Eletriptan

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

อาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน
ตัวอย่างการใช้ยา Eletriptan เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาครั้งแรก ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก หากเกิดอาการขึ้นซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามาถรับประทานยาอีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม โดยรับประทานหลังจากใช้ยาครั้งแรกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน 

การใช้ยา Eletriptan

  • ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยานี้ครั้งแรกขณะอยู่ในสถานพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  • รับประทานยานี้ทันทีที่เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยควรใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้
  • ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจระดับความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่ใช้ยานี้ เนื่องจากยา Eletriptan อาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด เพราะการใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้
  • หากผู้ป่วยใช้ยามากกว่า 10 วันใน 1 เดือน อาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที 
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Eletriptan

การใช้ยา Eletriptan อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ปวดท้อง อ่อนเพลีย ง่วงซึม คลื่นไส้ ชาหรือรู้สึกเสียวแปล๊บ  เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลงก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ อาการคัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาเรื่องการหายใจ การกลืนหรือการพูด เสียงแหบผิดปกติ อาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอและใบหน้า เป็นต้น
  • มีสัญญาณอาการของภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ หมดสติ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรืออาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาครั้งแรก
  • ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หรืออุจจาระมีเลือดปน 
  • มีไข้ รู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัด
  • น้ำหนักลดลง
  • ชา แสบร้อนผิดปกติ ขาเป็นตะคริว รู้สึกปวดแปล๊บมากบริเวณกล้ามเนื้อขา ปวดแสบร้อนหรือปวดตื้อ ๆ ที่ขาหรือนิ้วเท้า
  • ผิวหนังบริเวณริมฝีปาก เล็บ นิ้วมือหรือนิ้วเท้าเขียวคล้ำ หรือเย็น
  • มีระดับเซโรโทนินในร่างกายสูง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น กระสับกระส่าย เดินเซ สับสน ประสาทหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่น ผิวหนังแดง กล้ามเนื้อกระตุกหรือแข็งเกร็ง ชัก ตัวสั่น มีเหงื่อออกมาก ท้องเสียอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น
  • มีสัญญาณอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น รู้สึกอ่อนแรงบริเวณซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย มีปัญหาในการพูดคุยและการเข้าใจ เดินเซ ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเบี้ยว การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากผู้ป่วยรายใดพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Infective Endocarditis
  • PDA (Patent Ductus Arteriosus)
  • Pectus Excavatum