Drug name: ondansetron

Description:

Ondansetron (ออนดาเซทรอน)

Ondansetron (ออนดาเซทรอน)

Share:

Ondansetron (ออนดาเซทรอน) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เป็นผลมาจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ การผ่าตัด หรือการรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี เป็นต้น ทำงานโดยการยับยั้งการผลิตสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในลำไส้และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน อาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งและฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

เกี่ยวกับ Ondansetron

กลุ่มยา ยาต้านอาการอาเจียน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด ชนิดน้ำ และยาฉีด


คำเตือนในการใช้ยา Ondansetron

การใช้ยา Ondansetron อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน เช่น อะโปมอร์ฟีน (Apomorphine)
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยา Ondansetron หรือยาที่ใช้รักษาการอาเจียนจากยาเคมีบำบัดอื่น ๆ เช่น โดลาซีตรอน (Dolasetron) แกรนิซีตรอน (Granisetron) เป็นต้น
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ หรือผู้ที่มีประวัติของกลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT syndrome) เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว
  • ผู้ที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) เนื่องจากตัวยาอาจมีส่วนผสมของกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)
  • ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมและแมงกานีสในร่างกายไม่สมดุล
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้า เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะอุดตันของระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นต้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะยังไม่มีข้อยืนยันถึงเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยากับบุคคลในกลุ่มนี้

ปริมาณการใช้ยา Ondansetron

ขนาดและปริมาณการใช้ยา Ondansetron จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การอาเจียนจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
    • ยารับประทาน ขนาด 2-8 มิลลิกรัม ตามอายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
    • ยาฉีด โดยปกติจะใช้ขนาด 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • การคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด
    • ยารับประทาน
  • ผู้ใหญ่ที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีระดับความรุนแรงสูง รับประทานยาขนาด 24 มิลลิกรัม 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด
  • ผู้ใหญ่ที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีระดับความรุนแรงปานกลาง รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ครั้งแรก 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด และอีกครั้งหลังการทำเคมีบำบัด 8 ชั่วโมง จากนั้นรับประทานขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ทุก 12 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลา 1-2 วัน
  • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4-11 ปี รับประทานยาขนาด 4 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน ครั้งแรก 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด อีกครั้งหลังครั้งแรก 4 และ 8 ชั่วโมง จากนั้นรับประทานขนาด 4 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน ทุก 8 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลา 1-2 วัน
  • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ครั้งแรก 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด อีกครั้งหลังครั้งแรก 8 ชั่วโมง จากนั้นรับประทานขนาด 8 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ทุก 8 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลา 1-2 วัน
  • ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 18 ปี ใช้ขนาด 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งแรก 30 นาที ก่อนการทำเคมีบำบัด อีกครั้งหลังจากเข็มแรก 4 และ 8 ชั่วโมง ฉีดได้สูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัมต่อครั้ง
  • การคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด
    • ยารับประทาน
  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 16 มิลลิกรัม 1 ชั่วโมงก่อนใช้ยาระงับความรู้สึก
  • ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
  • ผู้ใหญ่ ใช้แบบไม่เจือจาง ขนาด 4 มิลลิกรัม ก่อนใช้ยาระงับความรู้สึก หรือหลังการผ่าตัดภายใน 2 ชั่วโมง
  • เด็กที่มีอายุ 1 เดือนถึง 12 ปี และมีน้ำหนักน้อยกว่า 40 กิโลกรัม ใช้ขนาด 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ขนาด 4 มิลลิกรัม ก่อนหรือหลังใช้ยาระงับความรู้สึก หรือหลังการผ่าตัด
  • การคลื่นไส้อาเจียนจากการฉายรังสี
    • ยารับประทาน
  • ผู้ใหญ่ที่ทำการฉายรังสีทั่วร่างกาย รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 1-2 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสีในแต่ละวัน
  • การฉายรังสีที่ช่องท้องในปริมาณสูงมากเพียงครั้งเดียว ครั้งแรกรับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 1-2 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสี และรับประทานต่อเนื่องหลังจากครั้งแรกทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 1-2 วัน
  • การฉายรังสีที่ช่องท้องทุกวัน รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม 1-2 ชั่วโมงก่อนการฉายรังสี และรับประทานต่อเนื่องหลังจากครั้งแรกทุก 8 ชั่วโมง ในทุกวันที่มีการฉายรังสี

การใช้ยา Ondansetron

  • ยา Ondansetron เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • ควรรับประทานยาพร้อมดื่มน้ำเปล่าตาม 1 แก้ว จะรับประทานยาพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
  • หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
  • ควรเก็บยาชนิดเม็ดไว้ที่อุณหภูมิห้อง ยาชนิดน้ำควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิประมาณ 15-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ondansetron

ยา Ondansetron อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ เช่น ผื่นคัน มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น หรือทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในขณะใช้ยา

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น

  • ท้องเสีย หรือท้องผูก 
  • ปวดหัว 
  • ง่วงซึม หรือรู้สึกเหนื่อย

และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้อง แน่นท้อง หรือท้องผูกอย่างรุนแรง
  • ปวดหัวร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก วิงเวียน เป็นลม หัวใจเต้นแรงหรือเร็ว
  • ตาหรือผิวหนังมีสีเหลือง
  • มีปัญหาในการมองเห็น อาจนานไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมง เช่น มองเห็นไม่ชัด สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว
  • ระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในร่างกายสูง ทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว ตื่นตัวมากเกินไป คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นลม เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome)
  • คลื่นไส้
  • หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)