Drug name: lorazepam

Description:

ลอราซีแพม (Lorazepam)

ลอราซีแพม (Lorazepam)

Share:

Lorazepam (ลอราซีแพม) เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวลหรือผู้ที่มีความวิตกกังวลจากระดับสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน และยังสามารถใช้รักษาอาการอื่น อย่างอาการนอนไม่หลับอันเกิดจากความวิตกกังวล หรือช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา เช่น ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำเคมีบำบัด

เกี่ยวกับยา Lorazepam

กลุ่มยา เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยคลายความวิตกกังวล
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาสามารถขับออกมาทางน้ำนมและอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้ 
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Lorazepam

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา Lorazepam หรือยาอื่น ๆ ในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ควรใช้ยา Lorazepam ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเกินขนาดหรือใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเสพติดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว โรคตับ โรคไต โรคต้อหินชนิดมุมปิด และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะมีบุตร ไม่ควรใช้ยานี้เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะพิการแต่กำเนิด อาการขาดยาในเด็ก รวมถึงยาอาจขับออกมาทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อเด็กทารกได้
  • ตัวยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานที่เสี่ยงอันตรายในขณะที่ใช้ยา 
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในขณะที่ใช้ยา Lorazepam เพราะตัวยาอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในขณะที่ใช้ยาลอราซีแพม เพราะอาจทำให้ฤทธิ์ในการกดประสาทและความวิตกกังวลของยาลดลง

ปริมาณการใช้ยา Lorazepam

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Lorazepam ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

อาการนอนไม่หลับจากความวิตกกังวล

ตัวอย่างการใช้ยา Lorazepam เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับจากความวิตกกังวล

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา 2–4 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยให้รับประทานยาก่อนนอน

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

ตัวอย่างการใช้ยา Lorazepam เพื่อรักษาโรควิตกกังวล

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ริมาณยาเริ่มต้นให้รับประทานวันละ 2–3 มิลลิกรัม โดยแบ่งเป็น 2–3 ครั้ง จากนั้นรับประทานต่อเนื่องในปริมาณครั้งละ 1–2 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง

ผู้สูงอายุ ปริมาณยาเริ่มต้นให้รับประทานวันละ 1–2 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน และควรเพิ่มขนาดยาทีละน้อยเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา

การใช้ยา Lorazepam

ยา Lorazepam สามารถใช้ได้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนดเท่านั้นและไม่หยุดใช้ยาเองทันทีโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการขาดยา เช่น อาการชัก รวมถึงควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการใช้ยาไม่ได้ผล 

ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา การแพ้ยา รวมถึงโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่กำลังเป็นอยู่ การรับประทานยาในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูลควรรับประทานยาทั้งเม็ดในคราวเดียว ไม่ควรหัก บด หรือเคี้ยวยาก่อนรับประทาน 

ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานยาให้เร็วที่สุดเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ตอนใกล้เวลารับประทานยามื้อถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในมื้อถัดไปโดยไม่เพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรเก็บยาในภาชนะปิดที่อุณหภูมิห้อง รวมถึงหลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน และแสง เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ

ปฏิกิริยาระหว่างยา Lorazepam กับยาอื่น

ยา Lorazepam อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาที่ออกฤทธิ์กดระบบประสาท เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านอาการทางจิต ยากล่อมประสาท ยาต้านอาการซึมเศร้า และยาสลบ เพราะอาจเพิ่มฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางมากขึ้น
  • ยาระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ยามอร์ฟีน (Morphine) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการกดระบบประสาท กดระบบหายใจ ทำให้เกิดอาการโคม่าและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • ยาแก้เมารถยาสโคโปลามีน (Scopolamine) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการกดระบบประสาท และทำให้เกิดอาการประสาทหลอน
  • ยารักษาโรคหอบหืด เช่น ยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) ยาอะมิโนฟิลลีน (Aminophylline) เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • ยารักษาโรคลมชัก เช่น ยาวาลโปรเอท (Valproate) เพราะอาจเพิ่มความเข้มข้นของของเหลวในเลือด

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Lorazepam เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lorazepam

การใช้ยา Lorazepam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียคล้ายจะเป็นลม สับสน พูดจาเลอะเลือน รวมถึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ด้วย 

ซึ่งตัวอย่างผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และควรไปพบแพทย์หากมีอาการ มีดังนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกลืนอาหารลำบาก
  • รู้สึกกระสับกระส่ายหรือตื่นตัวอย่างกะทันหัน
  • ง่วงซึมมาก ไม่รู้สึกตัว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
  • อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ
  • เปลือกตาหย่อน สายตาและการมองเห็นเปลี่ยนไป
  • ปวดท้องบริเวณท่อนล่างของลำตัว ปัสสาวะสีเข้ม หรือมีภาวะดีซ่าน 
  • มีอาการสับสน ก้าวร้าว หรือประสาทหลอน
  • มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง

นอกจากนี้ หากมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า ริมฝีปากปาก ลิ้น หรือลำคอ มีอาการบวม และหายใจติดขัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีเช่นกัน