Drug name: ยาละลายลิ่มเลือด

Description:

ยาละลายลิ่มเลือด

ยาละลายลิ่มเลือด

Share:

ยาละลายลิ่มเลือด มีฤทธิ์กระตุ้นให้ลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดละลายตัว ช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปยังบริเวณที่เคยมีการอุดกั้นของลิ่มเลือดได้อีกครั้ง และหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ได้รับผลกระทบ ยาละลายลิ่มเลือดใช้รักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยาละลายลิ่มเลือดเป็นยาฉีดทางหลอดเลือดดำ มักใช้สำหรับการรักษาแบบฉุกเฉินและใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อนำมาใช้รักษาภายใน 30 นาที หลังจากผู้ป่วยเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ควรใช้ยาภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และภายใน 4.5 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการของโรคสมองขาดเลือด

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาสเตรปโตไคเนส ยาแอลทีเพลส ยายูโรไคเนส และยาอะนิสทรีเพลส

คำเตือนในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด

ยาละลายลิ่มเลือดแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ได้แก่

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน และสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วิตามินอี น้ำมันปลา ไม่ควรใช้ยาละลายลิ่มเลือด
  • ไม่ควรใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีภาวะที่ทำให้เสี่ยงมีเลือดออกสูง เช่น โรคความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง มีเลือดออกในสมอง เสียเลือดอย่างรุนแรง เพิ่งได้รับการผ่าตัด มีบาดแผลที่ยังมีเลือดออก โรคฮีโมฟีเลีย โรคเลือดไหลไม่หยุด หรือโรคเกี่ยวกับเลือดอื่น ๆ มีเกล็ดเลือดต่ำ โรคไตขั้นรุนแรง หรือมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง หลอดเลือดในสมองโป่งพอง เคยได้รับการผ่าตัดสมองหรือกระดูกสันหลัง หรือเพิ่งได้รับการช่วยเหลือฉุกเฉินด้วยการทำซีพีอาร์ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR)
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และผู้สูงอายุควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะยากลุ่มนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายในผู้สูงอายุได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด

เนื่องจากยาละลายลิ่มเลือดแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลจากฉลากยาอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ได้แก่

  • เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะมีเลือดออกภายในขั้นรุนแรง โดยเฉพาะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น เลือดออกตามเหงือก เลือดกำเดาไหล เป็นต้น แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก อาการของภาวะมีเลือดออกภายในที่สังเกตได้ เช่น เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย อุจจาระปนเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำ ไอเป็นเลือด อาเจียนปนเลือด ปัสสาวะมีสีแดงหรือสีชมพู มีอาการชาหรืออ่อนแรงกะทันหัน โดยอาจเกิดขึ้นกับร่างกายเพียงซีกเดียว ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน พูดไม่ชัด มีปัญหาในการทรงตัวหรือการมองเห็น เป็นต้น
  • ลิ่มเลือดเคลื่อนย้ายไปอุดตันที่ส่วนอื่นของระบบหลอดเลือดในร่างกาย
  • เกิดความเสียหายกับไตในผู้ป่วยโรคไต

ตัวอย่างผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นได้และควรแจ้งแพทย์ทันที ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก มีอาการเจ็บลามไปถึงขากรรไกรหรือหัวไหล่ เหงื่อออก คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบาย
  • บวม น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
  • อาเจียน ปวดท้องรุนแรง
  • นิิ้วมือหรือนิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือสีม่วง
  • หัวใจเต้นช้า หายใจไม่อิ่ม รู้สึกวิงเวียน
  • ปวดหลังรุนแรงอย่างฉับพลัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา แขนหรือขาไร้ความรู้สึก
  • ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง อาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นไม่ชัด ปวดตุบ ๆ ที่คอหรือหู มีเลือดกำเดาไหล เจ็บหน้าอกรุนแรง หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดจังหวะ วิตกกังวล สับสน เป็นต้น
  • ตับอ่อนอักเสบ อาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องส่วนบนอย่างรุนแรงลามไปถึงหลัง คลื่นไส้ อาเจียน และหัวใจเต้นเร็ว

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Angina Pectoris
  • Aortic Dissection (ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด)
  • Cardiogenic Shock