Drug name: เอซีอี-อินฮิบิเตอร์

Description:

เอซีอี อินฮิบิเตอร์

เอซีอี อินฮิบิเตอร์

Share:

ACE Inhibitor (เอซีอี อินฮิบิเตอร์) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษา ป้องกัน และบรรเทาภาวะหรือโรคหลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังบางชนิด ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหนังแข็ง ไมเกรน เป็นต้น โดยยานี้ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนแองจีโอเทนซิน 2 ที่ทำให้หลอดเลือดตีบตันจนมีผลเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น โดยยาส่งผลให้หลอดเลือดคลายตัวและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลงด้วย  

ตัวอย่างยา ACE Inhibitor

  • ยาอีนาลาพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุอย่างน้อย 1 เดือน และภาวะหัวใจวายในผู้ใหญ่ อีกทั้งยังนำมาใช้รักษาความผิดปกติของหัวใจห้องล่างซ้ายอีกด้วย โดยแพทย์อาจใช้ยานี้ร่วมกับยาตัวอื่น ๆ ในการรักษาภาวะดังกล่าว
  • ยารามิพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการคงที่ ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายจากโรคเบาหวาน และใช้หลังการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ยาแคปโตพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย และใช้หลังการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด อีกทั้งยังปกป้องไตจากอันตรายของโรคเบาหวานด้วย
  • ยาลิซิโนพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง และยังใช้หลังการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดด้วย
  • ยาเพอรินโดพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการคงที่ และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ยาทรานโดลาพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและใช้หลังการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ยาโฟซิโนพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจวาย
  • ยาโมอีซิพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง โดยออกฤทธิ์ช่วยคลายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • ยาควินาพริล เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวาย

คำเตือนในการใช้ยา ACE Inhibitor

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาในกลุ่ม ACE Inhibitor เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยใช้ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยาในกลุ่มนี้ได้
  • ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดที่สามารถหาซื้อได้เอง เช่น นาโปรเซน ไอบูโปรเฟน และแอสไพริน เป็นต้น เพราะยาอาจทำให้ร่างกายกักเก็บเกลือและน้ำ อีกทั้งยังไปลดประสิทธิภาพของยาในกลุ่ม ACE Inhibitor อีกด้วย
  • ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตัวเองแม้จะรู้สึกว่ายาใช้ไม่ได้ผลก็ตาม เพราะหากผู้ป่วยใช้ยานี้ในการรักษาภาวะหัวใจวาย อาการของโรคอาจไม่ได้ดีขึ้นในทันที อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในระยะยาวช่วยในการควบคุมภาวะหัวใจวายเรื้อรังและช่วยลดความเสี่ยงที่อาการจะแย่ลงได้
  • ผู้ป่วยอาจต้องรับการตรวจการทำงานของไตและความดันโลหิตขณะใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นประจำ อีกทั้งยังควรตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวัดระดับเกลือแร่ในเลือดด้วย
  • ห้ามใช้สารทดแทนเกลือที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียมขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ เพราะยาอาจทำให้ร่างกายกักเก็บโพแทสเซียม รวมถึงผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเกลือหรือโพแทสเซียมต่ำ และขอรับคำแนะนำจากนักโภชนาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ ไตวาย หรือเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง และอาจทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตหรือเกิดความผิดปกติได้
  • ไม่ควรให้นมบุตรขณะใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจใช้ยาในกลุ่มนี้ได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาในกลุ่ม ACE Inhibitor ก่อนให้บุตรหลานรับประทาน เพราะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ACE Inhibitor

โดยทั่วไป แพทย์มักให้ผู้ป่วยใช้ยา ACE Inhibitor เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อย โดยอาจมีอาการข้างเคียงหลังใช้ยา เช่น ไอแห้ง ๆ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สูญเสียการรับรสอาหาร เป็นต้น และผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากเกิดอาการ เช่น เจ็บคอหรือปาก มีไข้ มีรอยช้ำที่ผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก มีอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า หรือบริเวณขาส่วนล่าง เป็นต้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงเป็นอาการที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการบวมที่คอ ใบหน้า และลิ้น
  • มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาจมีอาการ เช่น เหนื่อยล้าหรืออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ใจสั่นหรือใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
  • อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำจนเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมาได้
  • สับสน ชาที่มือ เท้า และริมฝีปาก หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก ขาอ่อนแรงหรือรู้สึกหนัก  

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความกังวลใจ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันทีด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Angina Pectoris
  • Aortic Dissection (ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด)
  • Cardiac Tamponade