Drug name: sitagliptin

Description:

Sitagliptin

Sitagliptin

Share:

Sitagliptin (ซิตากลิปติน) เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ออกฤทธิ์เพิ่มระดับฮอร์โมนอินคริตินในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยจะเพิ่มการหลั่งอินซูลิน โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร และยังลดการผลิตน้ำตาลจากตับ แพทย์อาจให้ใช้ยานี้ร่วมกับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารหรือยารักษาชนิดอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 

เกี่ยวกับยา Sitagliptin

กลุ่มยา ยาเบาหวาน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป สำหรับผู้ป่วยที่ต้องให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยาซิตากลิปติน ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนให้นมบุตร

คำเตือนในการใช้ยา Sitagliptin

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยา ส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะภาวะเลือดเป็นกรด โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคไต หัวใจวาย ตับอ่อนอักเสบ และนิ่วในถุงน้ำดี
  • ผู้ป่วยที่เคยหัวใจวายหรือมีปัญหาเกี่ยวกับไตมาก่อน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากรู้สึกเหนื่อยมาก หายใจไม่อิ่ม มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือมีอาการบวมบริเวณแขนและขาขณะใช้ยานี้ เพราะยาซิตากลิปตินอาจส่งผลให้หัวใจวายได้
  • หากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับไตอาจจำเป็นต้องเข้ารับการล้างไตหรือรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล
  • หากร่างกายผู้ป่วยอยู่ในสภาวะตึงเครียดอย่างมีไข้ ติดเชื้อ บาดเจ็บ หรือเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารอาจทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยากกว่าปกติ 
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา หรือต้องใช้สายตาที่ชัดเจนจนกว่าจะแน่ใจว่าตนเองสามารถทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากระดับน้ำตาในเลือดที่ต่ำมากหรือสูงมากอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นภาพเบลอ เวียนศีรษะ หรือง่วงซึมได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยา เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ 
  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหรือตรวจเลือดตามคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นมากกว่าผู้ป่วยวัยอื่น

ปริมาณการใช้ยา Sitagliptin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยทั่วไปการใช้ยาในผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะรับประทานยาในปริมาณ 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

การใช้ยา Sitagliptin

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายอย่างหมดสติหรือมีปัญหาในการหายใจได้ 
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Sitagliptin

ยา Sitagliptin มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่ถ้าผู้ป่วยรายใดรับประทานแล้วมีอาการแย่ลง หรือเกิดอาการรุนแรงหลังการใช้ยาควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น

  • มีสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น มีผื่น ลมพิษ คัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาเรื่องการหายใจ การกลืน หรือการพูด เสียงแหบผิดปกติ หรือมีอาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ และใบหน้า เป็นต้น
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยครั้ง สับสน ง่วงซึม หน้าแดง หายใจถี่ ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ เป็นต้น  
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อใช้ยา Sitagliptin ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่น ๆ และอาจทำให้เกิดอาการ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ง่วง อ่อนแรง ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว สับสน หิว มีเหงื่อออก มองเห็นเป็นภาพเบลอ รู้สึกชาเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงตามฝ่าเท้าหรือมือ เป็นต้น
  • มีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ไม่ปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป ปัสสาวะปนเลือด น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น
  • ตับอ่อนอักเสบเป็นภาวะที่รุนแรงและบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดท้องร้าวไปหลังอย่างรุนแรง ท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น
  • มีอาการทางผิวหนังที่รุนแรง เช่น ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย ตาแดง ระคายเคืองดวงตา มีแผลในปาก ลำคอ จมูกหรือดวงตา เป็นต้น
  • ปวดข้อต่ออย่างรุนแรง     

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หากมีความกังวลใจ รวมถึงพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที