Drug name: ciprofloxacin

Description:

ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)

ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)

Share:

Ciprofloxacin (ไซโปรฟลอกซาซิน) เป็นยาปฏิชีวนะที่ช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากติดเชื้อ โรคหนองใน ปอมบวม โรคแอนแทรกซ์ รวมไปถึงการติดเชื้อที่ผิวหนัง กระดูก ข้อต่อ และช่องท้อง โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อการรักษาเชื้อไวรัส 

นอกจากนี้ ยา Ciprofloxacin อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์ และการใช้ยาชนิดนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในเด็ก เพราะมีความเสี่ยงจากอันตรายของการใช้ยาได้สูง

เกี่ยวกับยา Ciprofloxacin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน (Quinolones)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ใช้ยา Ciprofloxacin ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาหยอด ยาฉีด

คำเตือนของการใช้ยา Ciprofloxacin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Ciprofloxacin ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ควรแจ้งประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะในกลุ่มควิโนโลนตัวอื่น เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) และประวัติอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Prolong QT Interval) มีปัญหาของข้อต่อและเส้นเอ็น โรคไต โรคตับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคชักหรือสภาวะที่อาจนำไปสู่อาการชัก เพราะยา Ciprofloxacin อาจทำให้โรคประจำตัวเดิมกำเริบมากขึ้น หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานยานี้ เพราะตัวยาอาจส่งผ่านไปสู่ทารกได้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ควรรับประทานยานี้ ยกเว้นหากมีข้อบ่งชี้การใช้ยาที่จำเป็น เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาสูง
  • การใช้ยา Ciprofloxacin ในเด็กต้องปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงสูง โดยเฉพาะความผิดปกติของกระดูกและเส้นเอ็น
  • ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด และต้องตรวจเลือดดูค่าโปรทรอมบิน ไทม์ (Prothrombin Time: PT) หรือค่า INR (International Narmalized Ratio) รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ในเบื้องต้นก่อนการรับประทานยา Ciprofloxacin
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากยานี้อาจทำให้วิงเวียน ง่วงนอน และอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้
  • ไม่ควรรับประทานยา Ciprofloxacin ในช่วงที่ต้องรับประทานยาทิซานิดีน (Tizanidine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • การใช้ยา Ciprofloxacin ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายและแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือดื้อยา นอกจากนั้น การใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือใช้ยาเกินขนาดอาจไปลดประสิทธิภาพของฤทธิ์ยาได้

ปริมาณการใช้ยา Ciprofloxacin

ปริมาณการใช้ยา Ciprofloxacin จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย จุดประสงค์ของการรักษา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

การติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างและบน ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออ่อน
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาอาการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างและบน ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดฉีด โดยค่อย ๆ ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที เป็นระยะเวลา 7–14 วัน หรือหากเป็นยารับประทาน แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 500–750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7–14 วัน

หูชั้นนอกอักเสบขั้นรุนแรง
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบขั้นรุนแรง ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดฉีด โดยค่อย ๆ ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที เป็นระยะเวลา 28 วัน หรือนานกว่านั้น แต่มักจะไม่เกิน 3 เดือน ส่วนกรณีที่ให้ยารับประทาน แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7–14 วัน หรือนานกว่านั้น แต่จะไม่เกิน 3 เดือน

หูชั้นนอกอักเสบฉับพลัน
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบฉับพลัน ได้แก่

เด็ก อายุ 6 เดือนขึ้นไป ให้ใช้ยาหยอดหูที่มีความเข้มข้นของยา 6% ครั้งละ 0.2 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง และอายุ 1 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาหยอดหูที่มีความเข้มข้นของยา 0.2% ครั้งละ 0.25 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน
ผู้ใหญ่ ให้หยอดที่มีความเข้มข้นของยา 0.2% ครั้งละ 0.25 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน หากเป็นยาหยอดหูที่มีความเข้มข้นของยา 6% ให้หยอดครั้งละ 0.2 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง 

หูชั้นกลางอักเสบที่มีน้ำขังในหูชั้นกลางทั้งสองข้าง
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาภาวะหูชั้นกลางอักเสบที่มีน้ำขังในหูชั้นกลางทั้งสองข้าง ได้แก่

เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปและผู้ใหญ่ ในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังรับการผ่าตัดเพื่อระบายของเหลวในหู แพทย์จะให้ใช้ยาชนิดหยอดหูที่มีความเข้มข้นของยาที่ 6% โดยหยอดครั้งละ 0.1 มิลลิลิตรที่หูชั้นกลางเพียงครั้งเดียว จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีดูดของเหลวออกจากหูชั้นกลาง

การติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาการติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดฉีด โดยค่อย ๆ ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที โดยระยะเวลาการให้ยาจะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน แต่มักจะไม่เกิน 3 เดือน ส่วนกรณียารับประทาน แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 500–750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยระยะเวลาการรับประทานยาสูงสุดจะไม่เกิน 3 เดือน

โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ (Inhalational Anthrax)
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาและป้องกันโรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรียแบซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดฉีด โดยค่อย ๆ ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที เป็นระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ หรือให้ยาชนิดรับประทาน ในปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ

เด็ก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดฉีด โดยค่อย ๆ ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 10–15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่จะไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที เป็นระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ หรือให้ยาชนิดรับประทานในปริมาณ 10–15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่จะไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที เป็นระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ

โรคต่อมลูกหมากอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยา Ciprofloxacin เพื่อรักษาโรคต่อมลูกหมากอักเสบ ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 500–750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หากเป็นต่อมลูกหมากอักเสบชนิดฉับพลัน ระยะเวลาการรับประทานยาจะอยู่ที่ 2–4 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่เป็นต่อมลูกหมากอักเสบชนิดเรื้อรัง ระยะเวลาการรับประทานยาจะอยู่ที่ 4–6 สัปดาห์

การใช้ยา Ciprofloxacin

ผู้ป่วยควรใช้ยา Ciprofloxacin ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนการใช้ หากเป็นยาชนิดเม็ดไม่ควรเคี้ยว หัก หรือแบ่งยาเป็นส่วน ๆ ควรกลืนยาทั้งเม็ด ส่วนยาน้ำควรเขย่าขวดให้ตัวยาผสมเข้ากันดี ตวงยาด้วยช้อนมาตรฐาน โดยสามารถรับประทานได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร แต่ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ในระหว่างวัน เพื่อช่วยให้ตัวยากระจายได้ทั่วร่างกาย 

หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบต่อไป ให้ข้ามไปรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็นสองเท่า และหากมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

สำหรับยาชนิดหยอดหู ควรล้างมือก่อนใช้ยาทุกครั้ง หลังจากเพิ่งหยอดยาเสร็จให้หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางอย่างน้อย 5 นาทีเพื่อป้องกันยาไหลออกมา และควรระวังปากหลอดยาสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งควรรีบปิดขวดยาทันทีที่ใช้เสร็จเพื่อป้องกันการปนเปื้อน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบปริมาณที่กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรหยุดยาเองยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งระงับการใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับมาของโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และหากใช้ยาครบตามปริมาณที่กำหนดแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง

สำหรับการเก็บรักษายา ผู้ป่วยควรเก็บยาให้ห่างมือเด็กและเก็บไว้ที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงความชื้นและความร้อน และไม่ควรใช้ยาหยอดหูที่เปิดแล้วใช้ไม่หมดนานเกิน 8 วัน

ปฏิกิริยาระหว่างยา Ciprofloxacin กับยาอื่น

ผู้ใช้ยา Ciprofloxacin ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนหากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร เช่น ซูคราลเฟต (Sucralfate) หรือยาลดกรดที่มีแคลเซียม อะลูมิเนียม และแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบ 
  • ยาไดดาโนซีน (Didanosine) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ 
  • ยาลดกรด
  • ยาละลายลิ่มเลือด
  • ยารักษาเบาหวาน
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยารักษาโรคหัวใจ
  • ยารักษาภาวะซึมเศร้า
  • ยาสเตียรอยด์
  • ยาในกลุ่มเอ็นเสด 
  • ยาที่มีส่วนผสมของเหล็ก ซิงค์ แคลเซียม และแมกนีเซียม 
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ciprofloxacin

การใช้ยา Ciprofloxacin อาจส่งผลให้บางคนเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ โดยอาการที่มักพบได้ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คันหรือปวดหู และได้ยินเสียงในหู ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่มีความรุนแรง เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้น หรือเกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ดวงตา ลิ้น ริมฝีปาก และลำคอ
  • สัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อยากอาหาร อารมณ์ฉุนเฉียว หัวใจเต้นเร็ว
  • อาการทางระบบประสาท เช่น รู้สึกชาคล้ายเข็มทิ่ม แสบร้อนที่มือ แขน ขา หรือเท้า
  • ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล สับสัน ฉุนเฉียว หลอน ไม่มีสมาธิ หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
  • สัญญาณของภาวะเอ็นฉีกขาด เช่น ปวด บวม ช้ำ มีเสียงดังออกมาจากข้อต่อ
  • อาการอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก ปวดท้องรุนแรง ปวดหลังรุนแรง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ปวดตา ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ผิวและดวงตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • โรคแอคติโนมัยโคซิส (Actinomycosis)