Drug name: terbutaline

Description:

Terbutaline (เทอร์บูทาลีน)

Terbutaline (เทอร์บูทาลีน)

Share:

Terbutaline (เทอร์บูทาลีน) เป็นยาในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ใช้รักษาและป้องกันภาวะหลอดลมหดตัวจากโรคหืด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หรือโรคที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก และหายใจมีเสียงหวีดในลำคอ โดยยาจะออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ บางกรณีอาจใช้ยานี้รักษาภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้ การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงถึงชีวิตได้หากใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์

เกี่ยวกับยา Terbutaline

กลุ่มยา เบต้าอะโกนิสท์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันและรักษาการหดตัวของหลอดลม
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่น

คำเตือนของการใช้ยา Terbutaline

  • ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพ้ยาหรือส่วนผสมตัวใดตัวหนึ่งในยา Terbutaline
  • ผู้ที่กำลังใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคหืด ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยาแก้หวัด ยาลดความอยากอาหาร ยากลุ่ม Beta-Blocker เป็นต้น
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก และยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI หรือเคยมีประวัติการใช้ยาต้านเศร้า 2 กลุ่มนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Terbutaline เพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณยาและลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากยา
  • หากมีโรคประจำตัวหรือเคยมีประวัติเป็นโรคใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ โดยเฉพาะโรคหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคลมชัก เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุและผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังวางแผนมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยานี้ก่อนเสมอ หากตั้งครรภ์ระหว่างที่กำลังใช้ยา Terbutaline ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
  • ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อป้องกันการคลอดในหญิงมีครรภ์นานกว่า 48-72 ชั่วโมง เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
  • ยา Terbutaline ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอและใช้ยาด้วยความระมัดระวัง
  • ผู้ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งมาก่อนควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Terbutaline

ยา Terbutaline มีหลายรูปแบบ โดยปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก เพราะต้องมีการประเมินสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย

ตัวอย่างปริมาณและวิธีการใช้ยา Terbutaline

ยารับประทาน

รักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งแบบเฉียบพลัน

  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง และสามารถเพิ่มปริมาณยาได้ภายหลัง โดยปริมาณยาสูงสุดอยู่ที่ 5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12-15 ปี รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 2.5-3 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และอาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดเป็นครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งเมื่อมีเหตุจำเป็น สำหรับยา Terbutaline ชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานครั้งละ 5-7.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

ยาฉีด

ป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดแบบไม่ซับซ้อน และมีอายุครรภ์ระหว่าง 22-37 สัปดาห์

  • ผู้ใหญ่ ให้ยาหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ปริมาณเริ่มต้น 5 ไมโครกรัม/นาที อาจเพิ่มเป็น 2.5 ไมโครกรัม/นาที ทุก ๆ 20 นาทีจนกระทั่งมดลูกหยุดหดรัดตัว และให้ยาอย่างต่อเนื่องจนครบ 1 ชั่วโมง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/นาที จากนั้นลดปริมาณยาลง 2.5 ไมโครกรัม/นาที ภายใน 20 นาที และค่อย ๆ ลดยาลงจนถึงระดับน้อยที่สุดที่ยับยั้งมดลูกหดตัวได้ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง

รักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งชนิดรุนแรง

  • เด็กอายุ 2-15 ปี ฉีดยาเข้าสู่ร่างกายปริมาณ 0.01 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ไม่ควรเกิน 0.3 มิลลิกรัม/ครั้ง
  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ หลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนัง ครั้งละ 250-500 ไมโครกรัม สูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน หรือให้ยาหยดเข้าทางหลอดเลือดดำความเข้มข้น 3-5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ด้วยอัตราเร็ว 0.5-1 มิลลิลิตร/นาที

การใช้ยา Terbutaline

  • หากเป็นยา Terbutaline ชนิดฉีด การใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และต้องฉีดยาภายในสถานพยาบาลเท่านั้น
  • สำหรับยา Terbutaline ชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนใช้ และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับปริมาณการใช้ยานี้ด้วยตนเอง โดยทั่วไปให้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 ชั่วโมง
  • หลังรับประทานยา ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง แต่หากพบว่าอาการแย่ลงหรือยาเริ่มควบคุมอาการไม่ได้ผล ควรรีบไปพบแพทย์
  • กรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาครั้งต่อไปในปริมาณปกติ และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนครบตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง โดยไม่หยุดใช้ยาแม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากพบอาการผิดปกติหรือมีอาการป่วยรุนแรงหลังใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Terbutaline

การใช้ยา Terbutaline อาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยบางราย เช่น สั่น เซื่องซึม เวียนศีรษะ วิตกกังวล นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปากแห้ง เหงื่อออก เป็นต้น ซึ่งควรไปพบแพทย์หากมีอาการอย่างต่อเนื่องหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการแพ้รุนแรง ได้แก่ ลมพิษ ผื่นขึ้น หายใจหรือกลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ แน่นหน้าอก ปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ หรือหน้าบวม ผิวลอกหรืออาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีอาการ เช่น หายใจถี่ ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ กระหายน้ำ หิวบ่อย ง่วงนอน รู้สึกสับสน ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ระดับโพแทสเซียมในร่างกายลดต่ำลง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว และหัวใจเต้นผิดปกติ
  • วิงเวียนหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • รู้สึกตื่นเต้น หรือตื่นตระหนกเกินไป
  • ชัก