Drug name: อะลูมิเนียม-ไฮดรอกไซด์-aluminium-hydroxide

Description:

อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)

อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)

Share:

Aluminium Hydroxide (อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์) เป็นยาในกลุ่มยาลดกรด ใช้เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น อาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย หรือท้องอืด โดยการออกฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะ นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังใช้เพื่อช่วยลดระดับฟอสเฟตในเลือดของผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย

เกี่ยวกับยา Aluminium Hydroxide

กลุ่มยา ยาลดกรด ยาจับฟอสเฟต
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และควบคุมอาการไตวาย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาน้ำแขวนตะกอน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Aluminium Hydroxide เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าตัวยาอาจปนมากับน้ำนม

คำเตือนในการใช้ยา Aluminium Hydroxide

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้ยา Aluminium Hydroxide หรือยาอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาเสริมธาตุเหล็ก ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคหัวใจ ยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบ
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้งหากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับไต อยู่ระหว่างการฟอกเลือด มีอาการท้องผูกรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ป่วยที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดต่ำหรือป่วยเป็นโรคพอร์ไฟเรียฉับพลัน ไม่ควรใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเพื่อปรึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร 
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กทารก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Aluminium Hydroxide

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ลดกรด

ตัวอย่างการใช้ยา Aluminium Hydroxide เพื่อลดกรด

ผู้ใหญ่ ไม่ควรรับประทานเกิน 1 กรัมต่อวัน โดยแบ่งปริมาณยาเพื่อรับประทานหลังอาหารแต่ละมื้อและก่อนนอน

ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ตัวอย่างการใช้ยา Aluminium Hydroxide เพื่อรักษาภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง (Hyperphosphatemia) ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ผู้ใหญ่ ปริมาณการรับประทานยาจะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 10 กรัมต่อวัน โดยผู้ป่วยอาจแบ่งรับประทานใน 1 วัน

การใช้ยา Aluminium Hydroxide

ผู้ป่วยที่รับประทานยา Aluminium Hydroxide ควรปฏิตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด และไม่ควรรับประทานยานี้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หากแพทย์ไม่ได้สั่งให้รับประทาน ในกรณีที่รับประทานยาชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ควรเขย่าขวดยาก่อนตวงปริมาณยา และควรใช้อุปกรณ์สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการรับประทานยาเกินขนาด และดื่มน้ำเปล่าตามหลังจากรับประทานยา แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับอาหารเหลวชนิดอื่น ๆ เช่น นม

ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานยา Aluminium Hydroxide ได้ทั้งก่อนหรืออาหาร แต่หากรับประทานเพื่อลดระดับฟอสเฟตในเลือด ควรรับประทานพร้อมมื้ออาหาร โดยอาจเลือกรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวันเพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนดให้รับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า 

อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้อาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมยาชนิดอื่นที่ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ดังนั้น หากต้องรับประทานยาชนิดอื่นร่วมด้วย ควรรับประทานก่อนหรือหลังการรับประทานยา Aluminium Hydroxide ประมาณ 2 ชั่วโมง

สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาให้ห่างมือเด็กและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน และไม่ควรใช้ยาหากยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Aluminium Hydroxide

ยา Aluminium Hydroxide อาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ท้องผูก ลำไส้อุดตัน อุจจาระเปลี่ยนสี คลื่นไส้ อาเจียน ปวดช่องท้อง ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia) ภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia) และหากใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย หรือเบื่ออาหาร ซึ่งหากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

นอกจากนี้ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากพบการเกิดอาการรุนแรงต่อไปนี้

  • ผื่นคัน หรือลมพิษ 
  • ผิวหนังบวม แดง พุพอง ลอก หรือคัน โดยอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
  • รู้สึกแน่นบริเวณหน้าอกหรือลำคอ
  • กลืนอาหารหรือพูดลำบาก
  • เสียงแหบผิดปกติ
  • ริมฝีปาก ช่องปาก ใบหน้า ลิ้น หรือคอบวม

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Gastroschisis
  • Hemolytic Uremic Syndrome
  • Malignant Hyperthermia