Drug name: dexamethasone

Description:

Dexamethasone (เดกซาเมทาโซน)

Dexamethasone (เดกซาเมทาโซน)

Share:

Dexamethasone (เดกซาเมทาโซน) คือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ฮอร์โมนหรือยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย โดยนำมาใช้รักษาโรคและภาวะต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย และการอักเสบของดวงตา หรืออาจนำมาใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา อย่างไรก็ตาม ยา Dexamethasone มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

เกี่ยวกับยา Dexamethasone

กลุ่มยา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ต้านการอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด ยาให้ทางหลอดเลือด ยาฉีดเข้าที่ข้อ ยาหยอดตา

คำเตือนของการใช้ยา Dexamethasone

  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเป็นโรคต่อไปนี้
    • โรคตับ เช่น ตับแข็ง
    • โรคไต
    • โรคต่อมไทรอยด์
    • มีประวัติเป็นโรคมาลาเรีย
    • วัณโรค
    • โรคกระดูกพรุน
    • ความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ต้อหินหรือต้อกระจก
    • โรคเริมที่เกิดขึ้นกับดวงตา
    • โรคแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
    • ความดันโลหิตสูง
    • ภาวะหัวใจวาย
    • มีภาวะซึมเศร้า หรือป่วยทางจิต
  • หากกำลังใช้ยานี้ ไม่ควรรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine) เนื่องจากอาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่
  • ผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสติดโรคอีสุกอีใสหรือโรคหัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะการติดเชื้อเหล่านี้ขณะใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ยานี้สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงได้ ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อหรือในรายที่มีการติดเชื้ออยู่ก่อนแล้วอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ปริมาณการใช้ยานี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ร่างกายมีความเครียดมากกว่าปกติ เช่น มีการเจ็บป่วยที่รุนแรง มีไข้ หรือมีการติดเชื้อ รวมไปถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดหรือได้รับการรักษาทางการแพทย์ฉุกเฉิน ก่อนใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงสถานการณ์และภาวะดังกล่าวที่อาจส่งผลต่อการรักษา
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งโรคประจำตัว ยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากมีโรคและยาหลายชนิดที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ยาสเตียรอยด์
  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อราไม่ว่าส่วนใดในร่างกาย ไม่ควรใช้ยานี้
  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยานี้ หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อื่น ๆ เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) รวมไปถึงการแพ้อื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะยาสเตียรอยด์อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดหรือปัสสาวะได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน
  • การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือง่วงนอน ดังนั้น ควรระมัดระวังเมื่อต้องขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรืองานที่เสี่ยงอันตราย
  • ยานี้สามารถขับออกทางน้ำนม อาจมีผลต่อทารกได้ ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้งว่ากำลังให้นมบุตร
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายานี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือไม่
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่ไม่ปกติในขณะที่ใช้ยานี้ เนื่องจากยาสเตียรอยด์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้
  • ตัวอย่างยาที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา Dexamethasone เมื่อใช้ร่วมกัน
    • ยาแอสไพริน
    • ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin)
    • ยาไดจอกซิน (Digoxin)
    • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
    • ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
    • ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทน
    • ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
    • ยาขับปัสสาวะ
    • ยารักษาต้อหิน
    • อินซูลิน หรือยารับประทานสำหรับรักษาเบาหวาน
    • ยารักษาสมองเสื่อมหรือโรคพาร์กินสัน
    • ยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน
    • ยานาพรอกเซน (Naproxen) เซเลโคซิบ (Celecoxib) ยามีลอกซิแคม (Meloxicam)
    • ยารักษาอาการชัก เช่น ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital)

ปริมาณการใช้ยา Dexamethasone

ตัวอย่างของโรคที่ใช้ยา Dexamethasone รักษา ได้แก่

โรคข้ออักเสบ (Inflammatory joint diseases)
ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าที่ข้อ ขนาด 0.8-4 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของข้อต่อที่อักเสบ
สำหรับการฉีดยาที่เนื้อเยื่ออ่อน ขนาด 2-6 มิลลิกรัม และอาจฉีดยาซ้ำทุก 3-5 วัน ไปจนถึงทุก 2-3 สัปดาห์

ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Prophylaxis of Nausea and Vomiting Associated with Cytotoxic Therapy)
ผู้ใหญ่: ใช้ขนาด 10-20 มิลลิกรัม ก่อนการใช้ยาเคมีบำบัด 15-30 นาที ใช้ขนาด 10 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในแต่ละวัน สำหรับผู้รักษาด้วยยาเคมีบำบัดระดับปานกลาง ใช้ยาขนาด 4 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง

ช็อกโดยไม่มีการตอบสนอง (Unresponsive Shock)
ผู้ใหญ่: ให้ทางหลอดเลือด ขนาดเริ่มต้น 40 มิลลิกรัม หรือ 1-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว(กิโลกรัม) อาจให้ซ้ำทุก 2-6 ชั่วโมง ใช้ยาขนาดสูงจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการที่คงที่ และไม่ควรให้ยาเกินกว่า 48-72 ชั่วโมง

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis)
ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือด ขนาด 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละ 4 ครั้ง ให้ 10-20 นาที ก่อนหรือพร้อมกับการรักษาการติดให้ยาฆ่าเชื้อครั้งแรก
เด็ก: อายุ 2 เดือน ถึง 18 ปี ให้ยาทางหลอดเลือด 150 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 4 วัน เริ่มใช้ยาก่อนหรือพร้อมกับการรักษาด้วยการต้านแบคทีเรียในครั้งแรก

การอักเสบที่เกิดขึ้นกับดวงตา (Ocular Inflammation)
ผู้ใหญ่: ยาหยอดตา 0.1 เปอร์เซนต์ ใช้ 1-2 หยด ในตาข้างที่เกิดการอักเสบ ในกรณีที่ไม่รุนแรงใช้ 4-6 ครั้งต่อวัน  และในกรณีที่รุนแรงอาจใช้ทุกชั่วโมง
ขี้ผึ้งป้ายตา 0.05 เปอร์เซนต์ ใช้ขนาด 0.5-1 นิ้ว ลงในร่องตาด้านล่าง (Conjunctival Sac)  วันละ 4 ครั้งขึ้นไป และเมื่ออาการดีขึ้นอาจลดลงเหลือวันละครั้ง

ต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory)
ผู้ใหญ่: รับประทานขนาด 0.75-9 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งใช้ 2-4 ครั้ง อาจมีการให้ยาโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือด
เด็ก: อายุ 1 เดือน ถึง 18 ปี รับประทาน 10-100 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน แบ่งใช้ 1-2 ครั้ง และอาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วย อาจใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขนาด 300 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน

การกำเริบฉับพลันของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
ผู้ใหญ่: รับประทาน 30 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตามด้วย 4-12 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน
เด็ก: อายุ 1 เดือน ถึง 12 ปี รับประทาน 100-400 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวกิโลกรัมต่อวัน แบ่งใช้ 1-2 ครั้ง
อายุ 12-18 ปี รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 0.5-24 มิลลิกรัมต่อวัน สูงสุด 24 มิลลิกรัมต่อวัน

ปริมาณยาสำหรับรักษาภาวะสมองบวมจากโรคมะเร็ง (Cerebral Oedema Caused by Malignancy)
ผู้ใหญ่: ให้ทางหลอดเลือด 10 มิลลิกรัม ตามด้วยให้ทางกล้ามเนื้อ 4 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ประมาณ 12-24 ชั่วโมง อาจลดขนาดยาหลังจาก 2-4 วัน จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดและหยุดยาใน 5-7 วัน ในกรณีที่รุนแรง ขนาดเริ่มต้น ให้ทางหลอดเลือด 50 มิลลิกรัม ในวันแรก หลังจากนั้นให้ยาขนาด 8 มิลลิกรัม ทุก 2 ชั่วโมง และค่อย ๆ ลดปริมาณยาในวันที่ 7-13
จนเหลือขนาดยา 2 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง
เด็ก: น้ำหนักตัวน้อยกว่า 35 กิโลกรัม ขนาดเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม ให้ทางหลอดเลือด จากนั้นตามด้วย 4 มิลลิกรัม ทุก 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้น ตามด้วย 4 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 วัน จากนั้นตามด้วย 2 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 วัน และลดลง 1 มิลลิกรัมต่อวัน
น้ำหนักตัวมากกว่า 35 กิโลกรัม ขนาดเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม ให้ทางหลอดเลือด จากนั้นใช้ 4 มิลลิกรัม ทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นใช้ 4 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 วัน จากนั้นใช้ 4 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 วัน จากนั้นลดลงเป็น 2 มิลลิกรัมต่อวัน

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Dexamethasone

ควรใช้ยาตามที่ระบุอยู่บนฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ

  • ไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตนเองในทันที เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ และควรปรึกษาแพทย์ถึงการหลีกเลี่ยงการเกิดอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้ยา
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ผลทดสอบทางการแพทย์บางอย่างผิดปกติไป ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการทดสอบทางการแพทย์ใด ๆ
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าและหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น
  • หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยานี้ ควรถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dexamethasone

หากพบว่าเกิดอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม ควรรีบพบแพทย์ในทันที และหากพบว่าเกิดอาการใดต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

  • กล้ามเนื้อเกร็ง อ่อนแรง หรือรู้สึกชา
  • หายใจตื้น มีอาการบวม หรือน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว
  • มีปัญหาในการมองเห็น
  • ภาวะซึมเศร้ารุนแรง มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
  • มีอาการชัก
  • ปวดหลังส่วนล่าง ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ปัสสาวะมีเลือดปน
  • อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ
  • สับสน มีอาการชาหรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มบริเวณรอบปาก
  • จังหวะหัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือชีพจรอ่อน
  • มีความผิดปกติของตับอ่อน โดยมีอาการเจ็บรุนแรงที่ท้องส่วนบนลามไปที่หลัง คลื่นไส้และอาเจียน หรือจังหวะหัวใจเต้นเร็ว
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้เกิดตะคริว ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น ทำให้รู้สึกกระหายหรือต้องปัสสาวะมากขึ้น มีอาการชาหรือรู้สึกมีเข็มทิ่ม
  • ความดันโลหิตสูงที่อันตราย ทำให้ปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นไม่ชัด เลือดกำเดาไหล รู้สึกตุบ ๆ ที่คอหรือหู วิตกกังวล

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dexamethasone ที่พบบ่อยได้แก่

  • มีอาการบวมที่มือหรือข้อเท้า
  • นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
  • สิวขึ้น ผิวแห้ง ผิวหนังบางลง ช้ำหรือสีผิวเปลี่ยนแปลง
  • แผลหายช้า
  • มีเหงื่อออกมากขึ้น หรือผมยาวเร็ว
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ รู้สึกว่าตนเองหรือสิ่งแวดล้อมหมุน
  • คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างหรือตำแหน่งของไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะที่แขน ขา ใบหน้า คอ หน้าอก หรือเอว

นอกจากนั้น อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Listeriosis
  • ตับแข็ง
  • มาลาเรีย