Drug name: Phenytoin

Description:

Phenytoin (เฟนิโทอิน)

Phenytoin (เฟนิโทอิน)

Share:

Phenytoin (เฟนิโทอิน) คือ ยาต้านชักที่นำมาใช้ป้องกันและควบคุมอาการชัก ซึ่งมีกลไกออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งหรือชะลอการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท โดยยาจะมีผลต่อพวกตัวรับส่งกระแสประสาทในสมองที่เป็นสาเหตของอาการชัก (Seizures) แต่ยานี้ไม่สามารถนำมาใช้รักษาอาการชักได้ทุกประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงยาที่เหมาะสมกับโรคและอาการนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ยา Phenytoin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

เกี่ยวกับยา Phenytoin

ลุ่มยา ยาต้านชัก (Anticonvulsant)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันและควบคุมอาการชัก
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อ

คำเตือนการใช้ยา Phenytoin

  • ก่อนใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยานี้ หรือยาต้านชักชนิดอื่น ๆ รวมไปถึงประวัติอาการแพ้อื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือปัญหาอื่น ๆ ได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติส่วนตัวหรือโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) โรคเบาหวาน  โรคตับ ลูปัส การขาดโฟเลตหรือวิตามิน บี 12
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน การรับประทานยานี้อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับกลูโคสในเลือดหรือปัสสาวะเป็นประจำ นอกจากนั้น ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากเกิดความผิดปกติใด ๆ เพราะอาจต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ยา การออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหาร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ หรือง่วงซึม ผู้ที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการใช้เครื่องจักรและทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมไปถึงควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือขั้นตอนทางการแพทย์ที่อาจทำให้ไม่สามารถรับประทานยาได้ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานวิตามิน ดี เสริม เพื่อป้องกันโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia)
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์จะใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ แต่อาการชักก็เป็นภาวะที่อันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ดังนั้น ไม่ควรหยุดใช้ยาหากแพทย์ไม่แนะนำ
  • ผู้ที่วางแผนมีบุตรหรือคิดว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีถึงประโยชน์หรือความเสี่ยงในการใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนั้น ควรปรึกษาถึงวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม หากการคุมกำเนิดวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผลขณะกำลังใช้ยานี้
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจเข้าซึมสู่น้ำนมมารดาได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมยาอื่นหรือในระยะไล่เลี่ยกัน
  • ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มฤทธิ์ยาให้ทำงานมากเกินไปได้
  • ยาที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้
    • ยาที่เพิ่มการออกฤทธิ์ของ Phenytoin เช่น ยาไดคูมารอล (Dicumarol) ยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) และยาทิโคลพิดีน (Ticlopidine)
    • ยาที่ลดการออกฤทธิ์ของ Phenytoin เช่น ยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ยาไดอะซอกไซด์ (Diazoxide) ยารีเซอร์พีน (Reserpine) ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) ยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) และยาไวกาบาทริน (Vigabatrin)

ปริมาณการใช้ยา Phenytoin

อาการชักเกร็งทั้งตัว (Tonic-Clonic Status Epilepticus)

ผู้ใหญ่  ให้ทางหลอดเลือดดำและเสริมด้วยยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ หรือให้ยาเป็นระยะ ๆ ไหลเข้าทางหลอดเลือดดำ ปล่อยยาด้วยอัตราเร็วไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อนาที โดยมีขนาดยาต่อเนื่อง 100 มิลลิกรัม ให้ทุก 6-8 ชั่วโมง

เด็ก

  • เด็กแรกเกิดให้ทางหลอดเลือด ขนาดเริ่มต้น 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) จากนั้นให้ขนาด 2.5-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 1 เดือน-12 ปี ขนาดเริ่มต้น 18 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) จากนั้นให้ขนาด 2.5-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี ขนาดเริ่มต้น 18 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) จากนั้นค่อย ๆ ปรับเพิ่มขนาดอยู่ในปริมาณ 100 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง

โรคลมชัก (Epilepsy)

ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 3-4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) รับประทานครั้งเดียวทั้งหมดหรือแบ่งรับประทาน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง รับประทาน 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน ค่อย ๆ เพิ่มขนาดเป็น 600 มิลลิกรัมต่อวันหากจำเป็น และขนาดยาต่อเนื่อง 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน

เด็ก ขนาดเริ่มต้น 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แบ่งรับประทาน 2-3 มื้อ รับประทาน ขนาดยาต่อเนื่อง 4-8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) โดยแบ่งรับประทาน ขนาดสูงสุด 300 มิลลิกรัมต่อวัน

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Phenytoin

  • ควรใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสชักร
  • กรณีหากเป็นยาชนิดแคปซูล ควรกลืนยาทั้งเม็ดและไม่ควรบด เคี้ยว ทำให้แตก หรือเปิดแคปซูลออก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงรับประทานยา หากพบว่ายาเปลี่ยนสีไปจากปกติ
  • กรณียาเป็นแบบชนิดสำหรับเคี้ยว ควรเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
  • ควรเขย่าขวดยาชนิดน้ำก่อนนำไปวัดปริมาณและรับประทาน รวมไปถึงควรวัดปริมาณยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับยาโดยเฉพาะ
  • ในขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดบ่อยครั้ง และอาจต้องตรวจเลือดเมื่อมีการเปลี่ยนชนิดยา รวมไปถึงต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา
  • การใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการชัก ไม่ควรหยุดใช้ยาเองทันทีแม้ว่าจะมีอาการที่ดีขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักมากขึ้น ดังนั้น ควรรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • หากพบว่ายาไม่ให้ผลตามเท่าที่ควร ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ควรพกบัตรหรือสิ่งที่แสดงว่ากำลังใช้ยานี้ไว้กับตัว เพราะจะช่วยให้ผู้ให้การรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ ทราบว่ากำลังใช้ยาต้านชักอยู่
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเหงือกบวม ควรแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน และพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อป้องกันอาการดังกล่าว
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความชื้นและความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Phenytoin

หากพบว่ามีสัญญาณของอาการแพ้ยา ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นหรือคอบวม ควรไปพบแพทย์ทันที รวมไปถึงหากมีอาการต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก
  • เวียนศีรษะ
  • ง่วงซึม
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • รู้สึกวิตกกังวล
  • การเคลื่อนไหวดวงตาผิดปกติ
  • ร่างกายเสียการประสานงาน
  • พูดไม่ชัด
  • สับสน
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • มองเห็นไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน
  • เหน็บชาตามมือและเท้า
  • ใบหน้าเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น  ปากบวม เกิดผื่นบริเวณจมูกและแก้ม
  • ผมขึ้นมากกว่าปกติ
  • กระหายน้ำหรือปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • เหนื่อยผิดปกติ
  • เจ็บที่กระดูกและข้อต่อ
  • กระดูกหักง่าย

ผลข้างเคียงที่อาจพบบ่อย ได้แก่

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • ง่วงซึม สับสน วิตกกังวล
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก
  • สั่น พูดไม่ชัด เสียการทรงตัว
  • มีผื่นขึ้น
  • ตาเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ

นอกจากนั้น อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที