Drug name: นาราทริปแทน

Description:

นาราทริปแทน

นาราทริปแทน

Share:

Naratriptan (นาราทริปแทน) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันและบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไมเกรน เช่น ความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น โดยจะออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนินในสมอง ทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัวแคบลง ทั้งยังช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณความรู้สึกเจ็บปวดไปยังสมอง อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันหรือลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนได้

เกี่ยวกับยา Naratriptan 

กลุ่มยา ยาแก้ปวดไมเกรน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Naratriptan 

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน บุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน มีความดันโลหิตสูง มีคอเลสเตอรอลสูง น้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่ อยู่ในวัยหมดประจำเดือน มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เป็นต้น
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้และรุนแรง โรคหัวใจ รวมถึงเคยมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โรค Wolff-Parkinson-White Syndrome หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตที่อาจส่งผลให้ร่างกายขาดเลือด โรคตับหรือไตที่รุนแรง และผู้ที่มีอาการปวดศีรษะในลักษณะที่แตกต่างจากไมเกรน ไม่ควรรับประทานยานี้ 
  • ห้ามใช้ยานี้ภายใน 24 ชั่วโมงทั้งก่อนและหลังการใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนชนิดอื่น ๆ รวมถึงหากรับประทานยา Naratriptan ครั้งแรกแล้วอาการปวดยังคงอยู่ ห้ามผู้ป่วยรับประทานยาครั้งที่ 2 ติดต่อกันโดยทันที ควรต้องเว้นระยะเวลาของการรับประทานให้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง 
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจอาจต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจก่อนการใช้ยา
  • ผู้ป่วยสูงอายุมักไวต่อการเกิดผลข้างเคียงของยานี้โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและความดันโลหิตสูง 
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะและง่วงซึมได้
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Naratriptan

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

อาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน

ตัวอย่างการใช้ยา Naratriptan เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 1-2.5 มิลลิกรัม หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาครั้งแรก ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก หากเกิดอาการขึ้นซ้ำอีกครั้ง ผู้ป่วยอาจรับประทานยาอีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม โดยรับประทานหลังจากใช้ยาครั้งแรกไปแล้ว 4 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Naratriptan 

  • ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ครั้งแรกขณะอยู่ในสถานพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  • รับประทานยานี้ทันทีที่เกิดอาการปวดจากไมเกรน โดยควรใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • รับประทานยา Naratriptan ชนิดเม็ดทั่วไปโดยกลืนยาลงไปทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงมากกว่าเดิม เหนื่อยล้า คอแข็งเกร็ง อวัยวะในร่างกายทำงานไม่ประสานกัน หรือหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมได้
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการใช้ยาครั้งที่ 2 ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาครั้งถัดไป
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งใน 1 เดือน หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการวัดระดับความดันโลหิตบ่อยครั้งขณะใช้ยา Naratriptan เพราะยาอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนถึงระดับที่อันตรายได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาในระยะยาวอาจต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อการทำงานของหัวใจด้วย
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Naratriptan

การใช้ยา Naratriptan อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม รู้สึกอ่อนแรงหรือเหนื่อยล้า ชาหรือรู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง หน้าแดง รู้สึกร้อน คลื่นไส้ รู้สึกปวดหรือแน่นบริเวณกราม คอ หรือภายในลำคอ เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลงก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอและใบหน้า เป็นต้น 
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
  • ชา หรือรู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง นิ้วมือนิ้วเท้าเป็นสีฟ้า
  • รู้สึกปวดหรือหนักบริเวณขา ปวดสะโพก ปวดแสบร้อนที่เท้า 
  • ปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ท้องผูก มีไข้ น้ำหนักตัวลดลง
  • มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นเป็นภาพเบลอ รู้สึกเหมือนชีพจรเต้นตุบ ๆ บริเวณคอและหู เลือดกำเดาไหล วิตกกังวล สับสน เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดปกติ ชัก เป็นต้น
  • มีอาการจากภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก อาการปวดลามไปยังกรามและหัวไหล่ คลื่นไส้ และมีเหงื่อออก เป็นต้น
  • มีระดับเซโรโทนินในร่างกายสูง ทำให้เกิดอาการ เช่น กระสับกระส่าย เห็นเป็นภาพหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว การตอบสนองของร่างกายไวเกินไป คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อวัยวะในร่างกายทำงานไม่ประสานกัน หมดสติ เป็นต้น
  • มีสัญญาณอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น รู้สึกชาหรืออ่อนแรงอย่างเฉียบพลันโดยเฉพาะซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปวดศีรษะอย่างเฉียบพลันและรุนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาในการมองเห็นและการทรงตัว เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากผู้ป่วยรายใดพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Infective Endocarditis
  • PDA (Patent Ductus Arteriosus)
  • Pectus Excavatum