Drug name: activated-charcoal

Description:

Activated Charcoal (ถ่านกัมมันต์)

Activated Charcoal (ถ่านกัมมันต์)

Share:

Activated Charcoal หรือ Activated Carbon (ถ่านกัมมันต์) เป็นยาใช้รักษาผู้ที่ได้รับพิษหรือยาบางชนิดเกินขนาด โดยช่วยลดการดูดซึมสารพิษหรือสารเคมีไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย บางครั้งแพทย์อาจใช้บรรเทาอาการอื่นตามดุลยพินิจ โดยอาจนำไปผสมกับตัวยาอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสภาวะต่าง ๆ เช่น อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในท้องมาก จนทำให้เกิดอาการปวดท้อง ในกรณีที่พิษจากยาหรือสารพิษมีความรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับยาซ้ำหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม Activated Charcoal จะใช้ไม่ค่อยได้ผลในการดูดซึมสารบางชนิด เช่น สารที่ทำให้เกิดการผุกร่อน (Corrosive Agents) สารประเภทกรดและด่างอย่างกรดบอริก (Boric Acid) ลิเทียม (Lithium) เหล็ก (Iron) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Petroleum Product) หรือแอลกอฮอล์ โดยทั่วไปยานี้สามารถเรียกได้อีกหลายชื่อ เช่น ผงถ่านกัมมันต์ ยาคาร์บอน ถ่านชาร์โคล

เกี่ยวกับยา Activated Charcoal

กลุ่มยา ยาต้านพิษ (Antidote)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ลดการดูดซึมยาหรือสารพิษในร่างกาย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน (ยาผง ยาเม็ด และแคปซูล)


คำเตือนของการใช้ยา Activated Charcoal

  • หากเคยมีประวัติการแพ้ยา ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ รวมทั้งแจ้งว่ามีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น
  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา
  • หากต้องรับประทานยาไอพีแคกน้ำเชื่อม (Syrup of Ipecac) พร้อมกับยานี้ เพื่อช่วยให้อาเจียน ผู้ป่วยควรรับประทานยาไอพีแคกน้ำเชื่อมก่อนและรอจนกว่าจะอาเจียน (โดยทั่วไปประมาณ 30 นาที) จึงค่อยรับประทานยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อยู่ในภาวะขาดน้ำ เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร
  • ไม่ควรดื่มแอกอฮอล์ในขณะที่รับประทานยานี้ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำปฏิกิริยากับยาได้
  • ห้ามใช้ยานี้เป็นประจำ
  • หลังการรับประทานยาอาจทำให้อุจจาระเป็นสีดำ

ปริมาณการใช้ยา Activated Charcoal

ยา Activated Charcoal ส่วนใหญ่ใช้รักษาภาวะได้รับสารพิษต่าง ๆ เป็นหลัก ตัวยามีอยู่หลายแบบ และแต่ละชนิดมีส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์ที่ไม่เท่ากัน ทำให้ปริมาณการใช้แตกต่างกันออกไป จึงควรศึกษาข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา

ภาวะได้รับสารพิษ

ผู้ใหญ่

  • การให้ยาครั้งเดียว: รับประทาน ขนาด 25-100 กรัม
  • การให้ยาซ้ำหลายครั้ง: รับประทานยาเริ่มแรก ขนาด 50-100 กรัม จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาขึ้น 12.5 กรัม ทุก 1 ชั่วโมง หรือ 25 กรัม ทุก 2 ชั่วโมง หรือ 50 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง จนกระทั่งอาการดีขึ้น

เด็ก

การให้ยาครั้งเดียว:

  • เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี รับประทาน ขนาด 0.5-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 10-25 กรัม
  • เด็กอายุ 1-12 ปี รับประทาน ขนาด 0.5-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 25-50 กรัม
  • เด็กอายุ 13-18 ปี ให้ยาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

การให้ยาซ้ำหลายครั้ง:

  • เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี รับประทาน ขนาด 10-25 กรัม จากนั้นให้ยาอย่างต่อเนื่อง ขนาด 1-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 13-18 ปี ให้ยาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

บรรเทาอาการท้องอืด

เด็กอายุ 3-18 ปีและผู้ใหญ่: รับประทานยาชนิดแคปซูลหรือเม็ด ขนาด 500-1,040 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานสูงสุดไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน

การใช้ยา Activated Charcoal  

ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก พร้อมทั้งอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนการใช้ โดยรับประทานหลังอาหารเมื่อมีอาการหรือตามแพทย์สั่ง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยา ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภทในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ไอศกรีม น้ำเชื่อมช็อกโกแลต รวมไปถึงยาชนิดอื่น ๆ ภายใน 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังการรับประทานยานี้ เพราะอาจไปลดฤทธิ์ยาตัวอื่นที่รับประทานควบคู่กันลง

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Activated Charcoal

ยา Activated Charcoal มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและในกรณีที่จำเป็น แต่บางรายก็อาจเกิดอาการท้องเสีย อุจจาระเป็นสีดำ ลิ้นดำ ท้องผูก อาเจียน หรือเกิดอาการแพ้ยา ทำให้เกิดผื่น อาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ หรือความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยควรไปรีบพบแพทย์ทันที

สนับสนุนโดย:

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Gastroparesis
  • Hemolytic Uremic Syndrome
  • การติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter Infection)