Drug name: oxycodone-ออกซิโคโดน

Description:

Oxycodone (ออกซิโคโดน)

Oxycodone (ออกซิโคโดน)

Share:

Oxycodone (ออกซิโคโดน) เป็นยาระงับอาการปวดในกลุ่มโอปิออยด์ ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยช่วยลดการรับความรู้สึกของร่างกายและการตอบสนองต่ออาการเจ็บปวด นำมาใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางจนถึงรุนแรง และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Oxycodone มีข้อห้ามใช้และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Oxycodone

กลุ่มยา ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Oxycodone

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ห้ามใช้ยา Oxycodone หากเป็นโรคหืดระดับรุนแรง มีความผิดปกติในการหายใจ และกระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดการอุดตัน
  • ห้ามผู้ป่วยใช้ยานี้หากไม่เคยใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์มาก่อนแล้วพบว่าร่างกายสามารถทนต่อยาได้ และไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี ใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ มีเนื้องอกในสมอง มีอาการชัก ติดสุราหรือยาเสพติด มีอาการป่วยทางจิต เป็นโรคตับหรือไต มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์ หรือถุงน้ำดีผิดปกติ
  • การใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการง่วงซึมและส่งผลให้หายใจช้าลง อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ยา Oxycodone อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมอย่างรุนแรงได้ ให้หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยานี้ จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ เช่น ยากระตุ้นประสาท ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคไมเกรน ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาการติดเชื้อที่รุนแรง หรือยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการใช้ยาใด ๆ ในระหว่างที่ใช้ยา Oxycodone เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ และทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินได้
  • การใช้ยา Oxycodone ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีภาวะพึ่งยาและมีอาการถอนยาได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเมื่อเด็กคลอดออกมา โดยทารกที่มีภาวะนี้อาจต้องรับการรักษาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์
  • ห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาจนทำให้เด็กมีอาการง่วงซึม มีปัญหาด้านการหายใจ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ปริมาณการใช้ยา Oxycodone

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

อาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง

ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 1-10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1-2 นาที และให้ยาซ้ำทุก 4 ชั่วโมง หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำเริ่มต้น 2 มิลลิกรัม/ชั่วโมง และอาจเพิ่มปริมาณยาหากจำเป็น สำหรับการบริหารยาแบบ Patient-Controlled Analgesia (PCA) ต้องให้ยาปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาในการให้ยาครั้งต่อไปที่ขั้นต่ำ 5 นาที
ผู้สูงอายุ ใช้ยาปริมาณต่ำสุดที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา

ยาฉีดใต้ผิวหนัง

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม/วัน โดยปรับปริมาณยาตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

ผู้สูงอายุ ใช้ยาปริมาณต่ำสุดที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง อาจเพิ่มปริมาณยาหากจำเป็น ส่วนยาชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานยา 5-10 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Oxycodone

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรรับประทานยา Oxycodone พร้อมอาหาร
  • ห้ามบด หัก หรือเปิดแคปซูลยาชนิดออกฤทธิ์นาน แต่ให้กลืนยาลงไปทั้งเม็ด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาในปริมาณมากเกินไปในทันที ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ห้ามบดหรือหักยาเพื่อสูดดม และห้ามนำยาไปผสมกับของเหลวเพื่อฉีดเข้าทางหลอดเลือด เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
  • ควรวัดปริมาณยาชนิดน้ำด้วยช้อนหรือถ้วยตวงยาโดยเฉพาะ
  • ห้ามให้ผู้อื่นรับประทานยาของตน โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติดหรือใช้ยาในทางที่ผิด เพราะยานี้อาจทำให้เกิดการเสพติดได้
  • เมื่อเริ่มใช้ยา Oxycodone ชนิดออกฤทธิ์นาน ควรหยุดใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เสพติดชนิดอื่น ๆ
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันด้วยตัวเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการหยุดใช้ยาอย่างถูกต้อง
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง รูม่านตาหรี่เล็ก ง่วงซึมอย่างรุนแรง หรือเข้าสู่ภาวะโคม่า เป็นต้น
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้มิดชิด หรือปรึกษาถึงวิธีการเก็บรักษายาอย่างถูกต้องจากเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Oxycodone

การใช้ยา Oxycodone อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อย ปวดท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง และมีอาการคันเล็กน้อย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม และคอบวม เป็นต้น
  • หายใจช้ากว่าปกติและเว้นช่วงนาน ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือปลุกให้ตื่นยากกว่าปกติ
  • หายใจเสียงดัง หายใจไม่อิ่ม หายใจเป็นเฮือก
  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ
  • ท้องผูกอย่างรุนแรง
  • สับสน ความคิดหรือพฤติกรรมผิดปกติ
  • วิงเวียน คล้ายจะหมดสติ
  • มีอาการชัก
  • ระดับคอร์ติซอลในร่างกายต่ำ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ เหนื่อยหรือหมดแรง เป็นต้น
  • กลุ่มอาการเซโรโทนิน ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น กระสับกระส่าย สับสน มีเหงื่อออกมาก มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม กล้ามเนื้อเกร็ง เดินผิดปกติ หรือหน้ามืด เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ยา Oxycodone ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้ด้วย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะส่งผลอย่างถาวรหรือไม่ และผลข้างเคียงที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยสูงวัย ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Undecylenic Acid (อันดีไซลีนิก แอซิด)
  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • ลมพิษ