Drug name: Cimetidine

Description:

Cimetidine (ไซเมทิดีน)

Cimetidine (ไซเมทิดีน)

Share:

Cimetidine (ไซเมทิดีน) เป็นยาในกลุ่มยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2 Blockers) ออกฤทธิ์ยับยั้งสารฮิสตามีนที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก กรดไหลย้อน และหลอดอาหารอักเสบที่เกิดจากกรดไหลย้อน ส่วนการนำไปใช้รักษาอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

เกี่ยวกับ Cimetidine

กลุ่มยา ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2 Blockers)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยา
สรรพคุณ รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ยับยั้งการเกิดกรดไหลย้อน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Cimetidine

  • ห้ามใช้ยาหากแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ ในตัวยา Cimetidine
  • ห้ามใช้ยาหากกำลังใช้ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) และพิโมไซด์ (Pimozide)
  • ห้ามใช้ยาหากกำลังให้นมบุตร เพราะยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมจนเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ในระหว่างใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อปรึกษาถึงประโยชน์และโทษของยาก่อนใช้
  • ก่อนใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงวิตามิน สารเคมี ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริม และยาชนิดอื่น ๆ ที่ตนกำลังใช้อยู่เสมอ
  • ไม่ควรวินิจฉัยอาการแล้วรักษาโดยการใช้ยา Cimetidine หรือยาชนิดอื่น ๆ ด้วยตนเอง
  • ยาอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมและเวียนศีรษะ จึงไม่ควรขับรถหรือทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในระหว่างที่ใช้ยา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา

  • อาเจียน
  • มีปัญหาในการกลืน
  • น้ำหนักลด
  • เสียเลือด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับและไต

นอกจากนี้ ยาบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้เมื่อใช้ร่วมกับยา Cimetidine ซึ่งอาจเพิ่มอัตราการเกิดผลข้างเคียงให้สูงขึ้น หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้อยู่ โดยเฉพาะยาดังต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวด
  • ยาต้านชัก
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ยารักษาการติดเชื้อ
  • ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ยารักษาโรคหืด
  • ยารักษาความดันโลหิตสูง
  • ยารักษาอาการปวดเค้นหัวใจ
  • ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ยารักษาโรคมะเร็ง
  • ยารักษาอาการทางจิต

ปริมาณการใช้ยา Cimetidine

ตัวอย่างการใช้ยา Cimetidine

ผู้ใหญ่

  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง
  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง ปริมาณ 37.5 มิลลิกรัม/ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกิน 900 มิลลิกรัม/วัน)
  • ยารับประทาน ปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือปริมาณ 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุกวัน

การใช้ยา Cimetidine

  • ยานี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการจ่ายยาให้เท่านั้น ห้ามใช้ยาร่วมกับผู้อื่น
  • ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ในระหว่างใช้ยา
  • ไม่ควรกินยาลดกรด ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังใช้ยา Cimetidine
  • ระหว่างใช้ยา หากอาเจียนเป็นสีน้ำตาล หรืออุจจาระเป็นสีดำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • ผู้สูงอายุควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • หากต้องใช้ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) และกลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ควรปรึกษาแพทย์ และควรใช้ยาเหล่านี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ก่อนใช้ยา Cimetidine
  • หากใช้ยาไป 2-3 วัน แล้วอาการไม่ทุเลาลง ควรไปปรึกษาแพทย์
  • ควรเก็บยาในอุณหภูมิห้อง หรือที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ให้พ้นจากแสง
  • ควรเก็บยาในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ให้พ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่ได้ใช้ยาแล้ว
  • หากลืมกินยา ควรรีบกินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงช่วงเวลาการกินยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปกินยาครั้งถัดไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเด็ดขาด
  • หากกินยาเกินขนาด อาจมีอาการกระสับกระส่าย หัวใจเต้นผิดปกติ และหายใจลำบาก ควร รีบไปพบแพทย์ หรือรีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cimetidine

ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงทั่วไปจากตัวยา เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย หรือปวดข้อเล็กน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักร่วมด้วย เช่น

  • อาการแพ้ยา และมีไข้
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ประสาทหลอน 
  • เนื้อเยื่อไตอักเสบ
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • หัวใจเต้นช้าลงหรือเร็วขึ้น
  • ภาวะเต้านมโตในเพศชาย
  • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย 

ผู้ป่วยที่ปรากฏอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น บวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก และลิ้น มีผื่นลมพิษ ผื่นผิวหนัง คัน แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กรดไหลย้อน
  • กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)
  • การป้องกันอาการกรดไหลย้อน