Drug name: วาลาไซโคลเวียร์-valacyclovir

Description:

วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)

วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)

Share:

Valacyclovir (วาลาไซโคลเวียร์) เป็นยาต้านไวรัสรักษาการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเฮอร์พีส์ (Herpes Virus) อาทิ งูสวัด เริม เริมที่อวัยวะเพศ และอีสุกอีใส โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ชะลอการเติบโตและการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ หรือรักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจ

เกี่ยวกับยา Valacyclovir

กลุ่มยา ยาต้านไวรัส
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเฮอร์พีส์
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ดรับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา เนื่องจากสารจากตัวยาสามารถปนมากับน้ำนม

คำเตือนในการใช้ยา Valacyclovir

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น โดยเฉพาะยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) และยาต้านไวรัสชนิดอื่น
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาต่าง ๆ เช่น ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ยาฟอสคาร์เนท (Foscarnet) ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา Valacyclovir หากกำลังป่วยเป็นโรคไต โรคตับ โรคเอดส์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง มีประวัติการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือไขกระดูก อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำหรือมีภาวะขาดน้ำ
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยา Valacyclovir ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยตั้งครรภ์เป็นเริมบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากไวรัสเฮอร์พีส์อาจแพร่กระจายไปสู่ทารกในระหว่างคลอดบุตรได้ 
  • ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยา Valacyclovir ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย โดยเฉพาะอาการทางจิตใจ อารมณ์ และอาการเกี่ยวกับไต
  • ห้ามให้เด็กรับประทานยา Valacyclovir โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • ขณะใช้ยา Valacyclovir ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนบางชนิดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อย่างวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus)
  • เนื่องจากยา Valacyclovir อาจทำให้เวียนศีรษะ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในระหว่างใช้ยานี้ 
  • ยา Valacyclovir ไม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการกระจายโรคเริมที่อวัยวะเพศไปสู่ผู้อื่น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากยังมีรอยโรค แผลพุพอง หรือหากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยยังมีอาการจากการติดเชื้ออยู่

ปริมาณการใช้ยา Valacyclovir

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Valacyclovir จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

การติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex) 

ตัวอย่างการใช้ยา Valacyclovir เพื่อรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ หรือการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์บริเวณผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ 

ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ กรณีที่โรคกลับมาเกิดซ้ำ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 3–5 วัน หรือรับประทานต่อเนื่องสูงสุด 10 วันหากติดเชื้อครั้งแรก โดยระยะเวลาการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ กรณีที่โรคกลับมาเกิดซ้ำให้รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง อย่างน้อย 5 วัน หรือรับประทานต่อเนื่องสูงสุด 10 วันหากติดเชื้อครั้งแรก โดยระยะเวลา การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

ตัวอย่างการใช้ยา Valacyclovir เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ซ้ำ

ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจซ้ำหลังจากใช้ยาครบ 6–12 เดือน

ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจซ้ำหลังจากใช้ยาครบ 6–12 เดือน

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

โรคงูสวัด

ตัวอย่างการใช้ยา Valacyclovir เพื่อรักษาโรคงูสวัดหรืองูสวัดที่ลุกลามไปยังบริเวณดวงตา (Herpes Zoster Ophthalmicus)

ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน

ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน และรับประทานต่อไปอีก 2 วัน หลังจากแผลตกสะเก็ด

เริมบริเวณริมฝีปาก (Herpes Labialis)

ตัวอย่างการใช้ยา Valacyclovir เพื่อรักษาเริมบริเวณริมฝีปาก

ผู้ใหญ่ รับประทานยาครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 วัน

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส

ตัวอย่างการใช้ยา Valacyclovir เพื่อป้องกันการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ผู้ใหญ่ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ รับประทานยาครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 90 วัน หรือขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

การใช้ยา Valacyclovir 

ผู้ป่วยที่รับประทานยา Valacyclovir ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด และเริ่มรับประทานยาทันทีตั้งแต่เริ่มมีอาการ เนื่องจากหากผู้ป่วยไม่รีบรับประทานยาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและดูการตอบสนองของร่างกายต่อยา

การรับประทานยานี้ให้เห็นผล ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ในกรณีที่เด็กไม่สามารถรับประทานยาชนิดเม็ดได้ ให้ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ ซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรจะช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสม

ผู้ป่วยสามารถรับประทานยา Valacyclovir ได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร โดยอาจรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวัน เพื่อจดจำเวลาและป้องกันการลืมรับประทานยา แต่หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนไปรับประทานยาหลังอาหารแทน นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างใช้ยา เพื่อช่วยให้ไตทำงานได้อย่างเหมาะสม

ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้ผู้ป่วยรับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากลืมรับประทานยาอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรใช้ยาหากยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Valacyclovir

การรับประทานยา Valacyclovir อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป อาทิ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรือผิวไวต่อแสงแดด หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการที่รุนแรงหลังจากใช้ยา เช่น

  • มีผื่นขึ้น 
  • หายใจลำบาก 
  • ใบหน้า ดวงตา ปาก ลิ้น คอ มือ หรือเท้าบวม
  • มีไข้ขึ้นร่วมกับอาการเจ็บคอเป็นเวลานาน มีแผลเกิดขึ้นในปาก มีเลือดออก หรือเกิดรอยช้ำผิดปกติ
  • ผิวซีด ผิวหนังเกิดรอยจุดสีแดงที่ไม่ใช่อาการของเริมหรืออีสุกอีใส
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง
  • อุจจาระปนเลือด
  • อาเจียน
  • เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ก้าวร้าว หรือกระสับกระส่ายผิดปกติ 
  • สับสน หรือหลอน
  • พูดลำบาก
  • ชัก
  • ไตทำงานผิดปกติ โดยอาจสังเกตได้จากปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะน้อย ไม่ปัสสาวะเลย หรือบริเวณเท้าและข้อเท้าบวม

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Inguinal Hernia
  • ตับวาย
  • ต่อมลูกหมากอักเสบ