Drug name: ลีโวมิลนาซิแพรน

Description:

ลีโวมิลนาซิแพรน

ลีโวมิลนาซิแพรน

Share:

Levomilnacipran (ลีโวมิลนาซิแพรน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) ออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟริน ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดี นอนหลับได้ดีขึ้น อยากอาหารมากขึ้น และยังช่วยให้สนใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้นอีกด้วย โดยนำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้า และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Levomilnacipran

กลุ่มยา ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้า
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Levomilnacipran

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะมีเลือดออกหรือโรคฮีโมฟีเลีย โรคไบโพลาร์ ต้อหินมุมปิด ชักหรือโรคลมชัก โรคไต ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ กระเพาะปัสสาวะอุดตันหรือมีปัญหาในการปัสสาวะ รวมถึงผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะหรือยาแก้ปวดไมเกรนด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้ในช่วง 7 วันก่อนหน้า หรือ 14 วันหลังจากใช้ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีนบลู ยาฟีเนลซีน ยาราซากิลีน ยาเซเลกิลีน หรือยาทรานิลซัยโปรมีน เป็นต้น เพราะยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิด วิตามิน หรือสมุนไพรที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เช่น สารกระตุ้น ยากลุ่มโอปิออยด์ ยารักษาโรคซึมเศร้า โรคทางจิต โรคพาร์กินสันหรืออาการติดเชื้อที่รุนแรง ยาป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียน ยาแก้ปวดไมเกรน เป็นต้น เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้อักเสบเอ็นเสดเพื่อรักษาอาการปวด ข้ออักเสบ ไข้ หรืออาการบวม เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยา Levomilnacipran อาจส่งผลให้ผิวหนังฟกช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย
  • แพทย์จะตรวจอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มใช้ยาครั้งแรก เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีความคิดฆ่าตัวตายเมื่อเริ่มใช้ยา ซึ่งครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้มีระดับยา Levomilnacipran ในเลือดสูง
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ความสามารถในการคิดและการตอบสนองลดลง
  • ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในขณะที่ใช้ยาได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร เนื่องจากยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากโดยทั่วไปไม่อนุญาตให้ใช้ยานี้ในการรักษาผู้ป่วยเด็ก
  • ห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมของยามิลนาซิแพรนในขณะที่ใช้ยานี้ เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดมีลักษณะคล้ายกันมาก  

ปริมาณการใช้ยา Levomilnacipran

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยทั่วไปการใช้ยาในผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 2 วัน จากนั้นจึงเพิ่มปริมาณยาเป็น 40 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องที่ปริมาณ 40-120 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Levomilnacipran

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ห้ามบด เคี้ยว หักยา หรือแกะแคปซูลยา แต่ให้กลืนยาลงไปทั้งเม็ดแทน
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดการถอนยาได้ หากต้องการหยุดใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการลดปริมาณยา
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดหรือวัดอัตราการเต้นของหัวใจบ่อยครั้งในขณะที่ใช้ยานี้
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ และหากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้หมดสติหรือหายใจลำบากได้
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Levomilnacipran

โดยทั่วไป ยา Levomilnacipran มักทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เวียนศีรษะ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป มีเหงื่อออกมากขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ความต้องการทางเพศลดลง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือถึงจุดสุดยอดได้ยาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เป็นต้น  
  • มีกลุ่มอาการเซโรโทนินซินโดรม ทำให้เกิดอาการ เช่น กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน มีไข้ มีเหงื่อออกมาก สั่น หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อแข็งเกร็งหรือกระตุก อวัยวะระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานไม่ประสานกัน คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เป็นต้น
  • มองเห็นเป็นภาพเบลอ เห็นภาพคล้ายมองผ่านอุโมงค์ เจ็บตา ตาบวม รูม่านตาขยาย หรือเห็นรัศมีแสงรอบดวงไฟ
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะได้ยาก
  • ผิวหนังฟกช้ำได้ง่าย มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกทางช่องคลอด ถ่ายเป็นเลือด และมีรอยจ้ำสีม่วงที่ผิวหนัง เป็นต้น
  • ใจสั่น หรือรู้สึกหวิวในอก
  • มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ สับสน พูดไม่ชัด อ่อนแรงอย่างรุนแรง ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ อวัยวะระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานไม่ประสานกัน สูญเสียการทรงตัว หรือหายใจตื้น เป็นต้น   
  • มีอาการชัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบทันที หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือมีอาการใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม วิตกกังวล ตื่นตระหนก มีปัญหาในการนอนหลับ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจ กระสับกระส่าย มีอาการต่อต้าน มีภาวะไฮเปอร์ ซึมเศร้ามากกว่าปกติ และมีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง เป็นต้น รวมถึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน หากพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้เกิดขึ้นในขณะที่ใช้ยา

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)