Drug name: milk-of-magnesia

Description:

Milk of Magnesia (มิลค์ออฟแมกนีเซีย)

Milk of Magnesia (มิลค์ออฟแมกนีเซีย)

Share:

Milk of Magnesia (มิลค์ออฟแมกนีเซีย) หรือที่เรียกว่ายาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) เป็นยาชนิดหนึ่งในกลุ่มยาระบาย ทำงานโดยการช่วยเพิ่มน้ำในลำไส้ใหญ่จากเนื้อเยื่อรอบ ๆ ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น บางครั้งอาจใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก หรือใช้รักษาอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

เกี่ยวกับ Milk of Magnesia

กลุ่มยา ยาระบาย
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง 
สรรพคุณ ยาระบายสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกและอาหารไม่ย่อย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดน้ำ เม็ดและเม็ดเคี้ยว

คำเตือนการใช้ยา Milk of Magnesia

ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • เคยมีอาการแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในยา Milk of Magnesia หรือ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
  • ตั้งครรภ์ มีแนวโน้มจะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
  • มีอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย หรือเลือดออกทางทวารหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เคยผ่าตัดลำไส้
  • เป็นโรคไต ไส้ติ่งอักเสบ หรือลำไส้อุดตัน
  • ใช้ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยากับ ยา Milk of Magnesia และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง เช่น ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล ยาต้านจุลชีพกลุ่มเซฟาโลสปอริน หรือยากลุ่มเตตราไซคลิน เป็นต้น
  • ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน เพราะหากใช้ร่วมกับยา Milk of Magnesia อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น

ปริมาณการใช้ยา 

อาการท้องผูก

  • ผู้ใหญ่
    • ยารับประทานชนิดน้ำปริมาณ 30-60 มิลลิลิตรต่อวัน อาจแบ่งกินเป็นวันละหลายครั้งได้
    • ยารับประทานชนิดเม็ดเคี้ยวจำนวน 8 เม็ดต่อวัน อาจแบ่งกินเป็นวันละหลายครั้งได้
  • เด็ก
    • ยารับประทานชนิดน้ำ
      • อายุ 1 ปีหรือต่ำกว่านั้น
        ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อครั้ง
      • อายุ 2-5 ปี
        ปริมาณ 5-15 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งให้เป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง
      • อายุ 6-12 ปี
        ปริมาณ 15-30 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งให้เป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง
      • อายุ 13-18 ปี
        ปริมาณ 30-60 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งให้เป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง
    • ยารับประทานชนิดเม็ดเคี้ยว
      • อายุ 3-5 ปี
        จำนวน 2 เม็ด วันละครั้ง หรือแบ่งให้เป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง
      • อายุ 6-11 ปี
        จำนวน 4 เม็ด วันละครั้ง หรือแบ่งให้เป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง
      • อายุ 12-18 ปี
        จำนวน 8 เม็ด วันละครั้ง หรือแบ่งให้เป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง

อาการอาหารไม่ย่อย 

  • ผู้ใหญ่
    • ยารับประทานชนิดน้ำปริมาณ 5-15 มิลลิลิตร วันละ 1-4 ครั้ง เมื่อมีอาการ
    • ยารับประทานชนิดเม็ดจำนวน 1-3 เม็ด วันละ 1-4 ครั้ง เมื่อมีอาการ
    • ยารับประทานชนิดเม็ดเคี้ยวจำนวน 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (ใน 1 วันสูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง)
  • เด็กอายุ 12-18 ปี
    • ยารับประทานชนิดเม็ดเคี้ยวจำนวน 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (ใน 1 วันสูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง)

การใช้ยา Milk of Magnesia

  • ควรดื่มน้ำ 1 แก้วเต็ม (ประมาณ 230 มิลลิลิตร) ตามทุกครั้งหลังกินยา
  • ยา Milk of Magnesia มักออกฤทธิ์ให้เกิดการขับถ่ายขึ้นภายใน 30 นาที-6 ชั่วโมง หากยังไม่ถ่าย ควรปรึกษาแพทย์
  • ไม่ควรใช้ยาถึงจำนวนสูงสุดที่กำหนดนานเกิน 1 สัปดาห์โดยไม่พบแพทย์
  • หากใช้มาเกิน 1 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ควรพบแพทย์ทันที
  • ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อนและชื้น และไม่ควรสัมผัสแสงโดยตรง
  • ควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กหรือสัตว์เลี้ยง และห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำเด็ดขาด
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Milk of Magnesia
  • หากลืมกินยา ควรรีบกินยาทันทีที่รู้ตัว แต่หากใกล้จะถึงเวลากินยาครั้งต่อไปแล้ว ให้ข้ามยาที่ลืมกินนั้นไป โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาในครั้งต่อไปเด็ดขาด
  • หากกินยาเกินขนาดจากปริมาณที่กำหนดไว้ใน 24 ชั่วโมง อาจทำให้มีอาการท้องเสียหรือปวดเกร็งท้อง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Milk of Magnesia

ผู้ใช้ส่วนมากไม่ค่อยปรากฏอาการที่รุนแรงจากผลข้างเคียงของยา อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์ในทันทีหากพบว่าตนเองมีอาการแพ้ เช่น มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น ลำคอ หรือมีผื่นผิวหนังและคัน หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น

  • ระดับแมกนีเซียมสูง เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจตื้น
  • ภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง เวียนศีรษะ หิวน้ำจัด หรือปัสสาวะน้อยลง
  • ภาวะเกี่ยวกับทางเดินอาหารผิดปกติ เช่น ปวดท้องมากหรือถ่ายเป็นเลือด เลือดออกทางทวารหนัก

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Gastroparesis
  • ท้องผูก
  • อาหารไม่ย่อย