Drug name: คลอเฟนิรามีน

Description:

คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

Share:

คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine: CPM) เป็นยาบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากโรคภูมิแพ้ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม น้ำตาไหล หรืออาการคัน โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารฮีสทามีน (Histamine) ที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นและก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อภูมิแพ้ นอกจากนี้แพทย์อาจนำมาใช้ในการรักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจแพทย์

เกี่ยวกับยาคลอเฟนิรามีน

กลุ่มยา ยาต้านฮีสทามีน (Antihistamine)
ประเภทยา ยาหาซื้อได้เอง 
สรรพคุณ รักษาอาการที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ผู้ที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ สงสัยว่าตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมแม่จนส่งผลกระทบต่อทารก และอาจชะลอการผลิตน้ำนมแม่ได้
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยาคลอเฟนิรามีน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาคลอเฟนิรามีน รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติทางสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคไต โรคปอด หัวใจ และหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบ โรคเบาหวาน กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน กระเพาะปัสสาวะอุดตัน เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ทำงานสูงผิดปกติ และโรคลมชัก 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการรักษาทางการแพทย์และทันตกรรมใด ๆ 
  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคต้อหินมุมปิด กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน ปัสสาวะไม่ออก และโรคต่อมลูกหมากโตไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องอาศัยความตื่นตัวอยู่เสมอ เนื่องจากยาอาจส่งผลให้ง่วงซึม ตาพร่า หรือเวียนศีรษะได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
  • ผู้ป่วยควรหยุดรับประทานยานี้เป็นเวลา 7 วันก่อนเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้การตอบสนองลดลงและผลการทดสอบคลาดเคลื่อน
  • เด็กและผู้สูงอายุอาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าช่วงวัยอื่น จึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
  • ไม่ควรใช้ยาคลอเฟนิรามีนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ยกเว้นแพทย์สั่ง

ปริมาณการใช้ยาคลอเฟนิรามีน

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

อาการแพ้
ตัวอย่างการใช้ยาคลอเฟนิรามีน เพื่อรักษาอาการน้ำมูกไหล จาม น้ำตาไหล หรืออาการคันจากโรคภูมิแพ้ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่  

ยาชนิดรับประทาน

เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 2 ปี รับประทานยาในปริมาณ 1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 

เด็กอายุ 2–5 ปี รับประทานยาในปริมาณ 1 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อวัน

เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานยาในปริมาณ 2 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัมต่อวัน

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 4 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 24 มิลลิกรัมต่อวัน 

ยาชนิดฉีด 

เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 1 ปี ฉีดยาในปริมาณ 0.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง 

เด็กอายุ 1–5 ปี ฉีดยาในปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง หรือ 2.5–5 มิลลิกรัม/ครั้ง

เด็กอายุ 6–12 ปี เด็กอายุ 6–12 ปี ฉีดยาในปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง หรือ 2.5–5 มิลลิกรัม/ต่อครั้ง

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดยาในปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง หรือ 10–20 มิลลิกรัม/ครั้ง

ผู้ใหญ่ ฉีดยาในปริมาณ 10–20 มิลลิกรัม/ครั้ง เข้าทางกล้ามเนื้อ ใต้ผิวหนัง หรือค่อย ๆ ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 นาที ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยาคลอเฟนิรามีน

ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดหรือตามฉลากยาเท่านั้น ไม่ควรใช้เกินปริมาณหรือระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ยาคลอเฟนิรามีนอาจรับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือระหว่างท้องว่างก็ได้ ยาชนิดน้ำควรใช้ช้อนหรือถ้วยตวงยาที่มาพร้อมบรรจุภัณฑ์ในการรับประทาน ไม่ควรใช้ช้อนทั่วไป

ผู้ป่วยที่ลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติโดยไม่เพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า ในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หากดูแลตัวเองด้วยการใช้ยานี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

ปฏิกิริยาระหว่างยาคลอเฟนิรามีนกับยาอื่น

หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาที่หาซื้อได้เอง วิตามิน สมุนไพรบางชนิด และผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา เพราะยาคลอเฟนิรามีนอาจทำปฏิกิริยากับยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นจนทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา โดยเฉพาะยาต่อไปนี้ 

  • ยาแก้หวัดหรือยาแก้แพ้ชนิดอื่น ๆ 
  • ยารักษาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรืออาการชัก
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาแก้ปวดชนิดรุนแรงที่ก่อให้เกิดการเสพติด
  • ยานอนหลับ 
  • ยากล่อมประสาท 

นอกจากนี้ ห้ามใช้ยาคลอเฟนิรามีนหากกำลังใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitor: MAOI) ในช่วง 14 วันก่อนหน้า

ผลข้างเคียงของยาคลอเฟนิรามีน

หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาการบวมที่ลิ้น ปาก ริมฝีปาก และใบหน้า มีผื่นแดง ลมพิษ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะไม่ออก ปวดศีรษะ มีอาการสั่น นอนไม่หลับ การมองเห็นผิดปกติ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ประสาทหลอน หรือมีอาการชัก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

นอกจากนี้ การใช้ยาคลอเฟนิรามีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ตาพร่า ง่วงซึม นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย วิตกกังวล ตกใจง่าย ปากแห้ง จมูกแห้ง หรือคอแห้ง ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลงก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • โรคภูมิแพ้ (Allergy)