Drug name: rosuvastatin-โรซูวาสแตติน

Description:

Rosuvastatin (โรซูวาสแตติน)

Rosuvastatin (โรซูวาสแตติน)

Share:

Rosuvastatin (โรซูวาสแตติน) เป็นยาลดไขมันที่ช่วยลดปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีให้ร่างกาย นำมาใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและภาวะหัวใจวายในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Rosuvastatin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Rosuvastatin

กลุ่มยา ยาลดไขมัน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ป้องกันโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Rosuvastatin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ แพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ผู้ป่วยโรคตับหรือมีค่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่ใช้ยานี้ หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะต้องได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
  • ไม่ใช้ยาเกินกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา
  • ผู้ป่วยควรออกกำลังกายและรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา
  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคตับได้
  • หากจำเป็นต้องใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมหรือแมกนีเซียม ให้ผู้ป่วยใช้ยาลดกรดหลังใช้ยา Rosuvastatin อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้สูง
  • หญิงตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยานี้
  • ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ จึงควรคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และหากตั้งครรภ์ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้แจ้งแพทย์ทันที

ปริมาณการใช้ยา Rosuvastatin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ภาวะไขมันในเลือดสูง ป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและโรคหัวใจในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

  • เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไปที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และอาจปรับปริมาณการใช้ยาในช่วงอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยให้ยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม หรือ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาจนถึง 20 มิลลิกรัมในช่วง 4 สัปดาห์ โดยให้ยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Rosuvastatin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ใช้ยา Rosuvastatin อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และใช้ยาในเวลาเดิมทุกวัน
  • ไม่ลืมกินยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • สามารถรับประทานยา Rosuvastatin พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ โดยให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยว หัก หรือบดยา
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าและห้ามรับประทานยาซ้ำภายใน 12 ชั่วโมง
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บและกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความชื้น รวมทั้งเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Rosuvastatin

การใช้ยา Rosuvastatin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน อ่อนแรง ปวดข้อ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น มีอาการคัน ใบหน้าบวม ลิ้นบวม คอบวม เวียนศีรษะ มีปัญหาในการหายใจ เป็นต้น
  • กล้ามเนื้อลายสลาย อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บกล้ามเนื้อ มีอาการกดเจ็บ อ่อนเพลีย เป็นต้น ในกรณีที่รุนแรงก็อาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้
  • ไตผิดปกติ อาจทำให้ปริมาณของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะไม่ออก หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
  • ตับผิดปกติ อาจพบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน ปัสสาวะมีสีเข้ม ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้หรืออาเจียนต่อเนื่อง เป็นต้น
  • ตับอ่อนอักเสบ อาจทำให้ผู้ป่วยปวดท้องหรือปวดหลังอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วนอย่างรุนแรง หรือมีอาการผิดปกอื่น ๆ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Angina Pectoris
  • Aortic Dissection (ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด)
  • Cardiac Tamponade