Drug name: Kanamycin

Description:

ความหมาย Kanamycin (กานามัยซิน)

Kanamycin (กานามัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ ออกฤทธิ์กำจัดหรือป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยไม่สามารถใช้รักษาอาการหวัด ไข้หวัด หรือการติดเชื้อไวรัสได้ ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Kanamycin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Kanamycin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาพ่น ยาฉีด

 

คำเตือนในการใช้ยา Kanamycin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ซัลไฟต์ เป็นโรคไต โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคทางการได้ยิน เพราะยาอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่งในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้สูง
  • หากต้องใช้ยา Kanamycin กับทารกแรกเกิด ให้ปรึกษาแพทย์และใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ เพราะยาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Kanamycin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะการติดเชื้อและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ และการติดเชื้อสแตปฟิลโลค็อกคัล

ยาที่ใช้ในระบบทางเดินหายใจหรือยาพ่น

  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 250 มิลลิกรัม/วัน โดยผ่านเครื่องพ่นยาแบบละอองฝอยวันละ 2-4 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน

ยาฉีด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งฉีด 2-4 ครั้ง ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำด้วยสารละลายความเข้มข้น 0.25-0.5 เปอร์เซ็นต์ และให้ยาเป็นระยะเวลา 30-60 นาที ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน ให้มีระยะเวลาที่ใช้รักษา 7-10 วัน
  • เด็ก ฉีดยาปริมาณ 15-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดยา 3 ครั้ง

รักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และการปนเปื้อนเชื้อในช่องท้องระหว่างการผ่าตัด
ผู้ใหญ่ ให้ยาเข้าช่องท้องปริมาณ 500 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน

ชะล้างบริเวณโพรงเนื้อเยื่อในร่างกาย
ผู้ใหญ่ ใช้ยาจากสารละลายความเข้มข้น 0.25 เปอร์เซ็นต์ โดยค่อย ๆ ให้ยาเข้าไปที่โพรงหนอง ช่องว่างเยื่อหุ้มปอด ช่องท้อง หรือโพรงสมอง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน

การใช้ยา Kanamycin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • หากลืมใช้ยา ให้ไปปรึกษาแพทย์
  • ระหว่างที่ใช้ยา ผู้ป่วยต้องรับการตรวจติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยแพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อประเมินผลด้วย
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากรับยาฉีดมาใช้เองที่บ้าน ผู้ป่วยต้องศึกษาขั้นตอนการเตรียมยาและวิธีใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อน เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Kanamycin
การใช้ยา Kanamycin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น มีผื่นคัน ระคายเคืองหรือเจ็บบริเวณที่ฉีดยา มีไข้ ปวดศีรษะ เป็นเหน็บ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น แต่หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือมีอาการแพ้ยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ไตผิดปกติ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป ปัสสาวะมีเลือดปน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ เป็นต้น
  • การประสานงานกันของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเปลี่ยนแปลง สูญเสียการทรงตัว
  • หายใจไม่อิ่ม เหนื่อย หรืออ่อนแรง
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ
  • สูญเสียการได้ยิน มีเสียงดังในหู
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • แสบ ชา หรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม
  • กระตุก
  • ชัก

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน