Drug name: erythropoietin

Description:

Erythropoietin (อีริโทรโพอิติน)

Erythropoietin (อีริโทรโพอิติน)

Share:

Erythropoietin (อีริโทรโพอิติน) เป็นฮอร์โมนในร่างกายที่ผลิตขึ้นจากไต ทำหน้าที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มระดับฮีโมโกลบิน ซึ่งฮีโมโกลบินนี้ช่วยในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงมีการสังเคราะห์ฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางบางประเภท เช่น ภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง และใช้เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Erythropoietin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Erythropoietin

กลุ่มยา ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด รักษาภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Erythropoietin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยหรือทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพของยาลดลง
  • การใช้ยา Erythropoietin อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ซึ่งสามารถแตกตัวจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่ปอดและอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดได้ อาการที่แสดงถึงการมีลิ่มเลือด เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ปวดขา ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า แขน หรือขา
  • ยานี้อาจทำให้ระดับของฮีโมโกลบินเพิ่มสูงเกินไป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง หัวใจวาย และถึงแก่ชีวิตในที่สุด
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอาการแย่ลงหรือเนื้องอกขยายใหญ่ขึ้น แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยมะเร็งใช้ยานี้หลังจากได้รับการทำเคมีบำบัดเรียบร้อยแล้ว
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากป่วยเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการได้ไม่ดี มีอาการชัก หรือเป็นโรคพอร์ฟิเรีย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเลือด
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนใช้ยานี้
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายจากการใช้ยา และอาจมีการปรับปริมาณการใช้ยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย

ปริมาณการใช้ยา Erythropoietin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 50-150 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ เข้าทางผิวหนังหรือทางหลอดเลือดดำ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในผู้ป่วยที่ฟอกไต และปริมาณ 75-150 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ไม่ได้ฟอกไต โดยสามารถปรับปริมาณยาร้อยละ 25 ทุก 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ปรับปริมาณยาจนมีค่าฮีโมโกลบิน 10-12 กรัม/เดซิลิตร สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย

เด็ก ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 50-200 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถปรับปริมาณยาร้อยละ 25 ทุก 4 สัปดาห์ จนกว่าความเข้มข้นเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงจะอยู่ในระดับที่ต้องการ คือ 9.5-11 กรัม/100 มิลลิลิตร สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย

เพิ่มการสร้างเลือด

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 600 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าทางหลอดเลือดเป็นเวลาประมาณ 2 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด โดยใช้ยาร่วมกับธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12

ปริมาณยาเพื่อควบคุมอาการ เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 10 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 225-450 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์

เด็กน้ำหนักตัว 10-30 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 180-450 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์

เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 90-300 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์

รักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยที่ใช้ยาซิโดวูดีนรักษาการติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 100 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าใต้ผิวหนังหรือทางหลอดเลือดดำ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ และเพิ่มปริมาณ 50-100 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยา ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 300 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ภาวะโลหิตจางที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรครุนแรงด้วยเคมีบำบัด

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังปริมาณเริ่มต้น 150 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณเป็น 300 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในช่วง 4-8 สัปดาห์

หลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ หากการตอบสนองต่อยาไม่เป็นไปตามที่ต้องการแม้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดแล้ว ให้หยุดใช้ยา

การใช้ยา Erythropoietin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจความดันโลหิต ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจเลือดเพื่อติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์สั่ง
  • การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ควรฉีดอย่างช้า ๆ ประมาณ 1-5 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณยา หากผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สามารถให้ยาเข้าทางเส้นเลือดพร้อมกันไปในระหว่างการฟอกเลือดได้เลย
  • การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ให้ฉีดยาแต่ละครั้งไม่เกิน 1 มิลลิลิตร หากต้องให้ยามากกว่านี้ ให้ฉีดเพิ่มที่ตำแหน่งอื่น โดยจะฉีดบริเวณต้นแขน ต้นขา หรือหน้าท้อง ให้ห่างจากสะดือ และแต่ละครั้งจะฉีดสลับตำแหน่งกันไป
  • ยาที่ฉีดต้องไม่นำไปผสมกับยาตัวอื่นหรือสารละลายใด ๆ และห้ามเขย่ายาฉีด EPO เพราะอาจทำให้ไกลโคโปรตีนสลายตัวจนฤทธิ์ของยาหมดไป
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้รุนแรงถึงชีวิต ให้พกป้ายหรือสมุดระบุอาการแพ้ติดตัวไว้ตลอดเวลา
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หากพบว่ายาหมดอายุ บรรจุภัณฑ์ของยาปิดไม่สนิท หรือยามีความผิดปกติ เช่น สีของยาเปลี่ยนแปลง มีสารแขวนลอยหรือตะกอนในยา เป็นต้น
  • ปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีทิ้งเข็มฉีดยาอย่างถูกต้องและทิ้งในที่ที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะ ห้ามทิ้งลงในถังขยะทั่วไป
  • หากลืมฉีดยา ให้ฉีดทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ห้ามแช่แข็งและเลี่ยงไม่ให้ถูกแสง เก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Erythropoietin

การใช้ยา Erythropoietin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีอาการคล้ายหวัด ผื่นคัน ลมพิษ ความดันโลหิตสูง บวม มีไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และปวดบริเวณที่ฉีดยา หากพบว่าอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตอย่างภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต จนมีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ สับสน ชัก หรือเกิดภาวะมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งสังเกตได้จากอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ปวดขา ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า แขน หรือขา ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Cytomegalovirus Infection
  • Myelodysplastic Syndrome
  • Rhesus Disease