Drug name: ยาแก้ปวดไมเกรน

Description:

ยาแก้ปวดไมเกรน

ยาแก้ปวดไมเกรน

Share:

ยาแก้ปวดไมเกรน เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะและส่วนอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไมเกรน ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดที่อยู่รอบสมองหดตัว จึงช่วยให้อาการปวดศีรษะไมเกรนดีขึ้นได้ ปัจจุบันมียาที่นำมาใช้บรรเทาอาการปวดจากไมเกรนอยู่หลายชนิด โดยบทความนี้จะหมายถึงยาสูตรผสมระหว่างยาเออร์โกทามีน (Ergotamine) และคาเฟอีน (Caffeine) เท่านั้น

เกี่ยวกับยาแก้ปวดไมเกรน

กลุ่มยา ยารักษาไมเกรน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน และห้ามใช้ยานี้ในผู้ให้นมบุตรด้วยเช่นกัน เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้
รูปแบบของยา ยาเม็ด 

คำเตือนการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาแก้ปวดไมเกรน ยาเออร์โกทามีน และคาเฟอีน รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพใด ๆ 
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ปัญหาการไหลเวียนของเลือด โรคตับ โรคไต หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ ขณะใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาสามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์และก่อให้เกิดความผิดปกติได้
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือใช้สารนิโคตินควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้ปวดไมเกรน เนื่องจากสารนิโคตินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยารุนแรงได้ 
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำกับเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้มีอาการเสพติดการใช้ยา 
  • การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย

ปริมาณการใช้ยาแก้ปวดไมเกรน

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาที่มีตัวยาเออร์โกทามีน ขนาด 1 มิลลิกรัม และคาเฟอีน ขนาด 100 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวดศีรษะจากไมเกรน หากจำเป็นให้รับประทานยาเพิ่ม 1 เม็ด ทุก 30 นาที ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน และไม่เกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์

การใช้ยาแก้ปวดไมเกรน

ยาแก้ปวดไมเกรนสามารถรับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือระหว่างท้องว่างก็ได้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์หรือฉลากยากำกับเท่านั้น เพราะหากใช้ยาในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงและเกิดผลข้างเคียงตามมา 

อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดไมเกรนชนิดนี้ไม่สามารถใช้รักษาอาการปวดศีรษะประเภทอื่น ๆ ได้ และการรับประทานยาเกินขนาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากพบอาการอาเจียน มองเห็นเป็นภาพเบลอ รู้สึกง่วงซึมหรือคล้ายจะเป็นลม หมดสติ ชัก ชีพจรเต้นอ่อน หรือโคม่า ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน

ปฏิกิริยาระหว่างยาแก้ปวดไมเกรน

หากกำลังใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาหาซื้อได้เอง วิตามิน สมุนไพรบางชนิด และผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อน เนื่องจากยาแก้ปวดไมเกรนชนิดนี้อาจทำปฏิกิริยากับยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงหรือส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงตามมา

ผู้ที่กำลังใช้ยาต่อไปนี้ ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน เพราะอาจส่งผลให้การไหลเวียนเลือดลดลงอย่างรุนแรง

  • ยารักษาไมเกรนชนิดอื่น เช่น ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ยาอีลีทริปแทน (Eletriptan) ยานาราทริปแทน (Naratriptan) หรือยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) 
  • ยาต้านซึมเศร้า เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) 
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น ยาดีลาเวอร์ดีน (Delavirdine) ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir) ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) และยาอินดินาเวียร์ (Indinavir)

ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดไมเกรน

การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อาการบวมหรือคัน รู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง ชา ปวดแสบร้อน หรือเวียนศีรษะ ซึ่งในรายที่มีอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้น ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที

เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่พบผลข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน

  • มีสัญญาณอาการแพ้รุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีผื่นคัน ลมพิษ หรืออาการบวมบริเวณลิ้น ปาก ริมฝีปาก และใบหน้า
  • นิ้วมือนิ้วเท้าเย็น ซีด หรือเป็นสีเขียว
  • ชาตามผิวหนัง มือ และเท้า
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน ประสาทหลอน
  • ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • อัตราการเต้นของหัวใจไม่ปกติ ชีพจรเต้นอ่อน หายใจลำบาก
  • เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บกล้ามเนื้อ ชัก
  • อารมณ์แปรปรวน

นอกจากนี้ การใช้ยาแก้ปวดไมเกรนปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดหดตัวมากเกินไปจนทำให้แขนขาขาดเลือดและอาจรุนแรงถึงขั้นต้องตัดทิ้ง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเย็นตามแขนและขา หัวใจเต้นช้า เนื้อเขียวเพราะขาดออกซิเจน ปวดกล้ามเนื้อ และปวดบริเวณส่วนหน้าของหัวใจ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • การป้องกันอาการปวดหัว
  • การรักษาอาการปวดหัว