Drug name: lithium

Description:

Lithium (ลิเทียม)

Lithium (ลิเทียม)

Share:

Lithium (ลิเทียม) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารเคมีและการทำงานในสมอง ใช้รักษาหรือป้องกันการเกิดซ้ำของกลุ่มอาการแมเนีย (Mania Episodes) ซึ่งเป็นภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติจนทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างในผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วหรือโรคไบโพลาร์ และอาจใช้รักษาภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภท กลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders) หรือ​อาการผิดปกติทางจิตบางภาวะของเด็ก

เกี่ยวกับยา Lithium

กลุ่มยา ยารักษาโรคจิต (Antipsychotics) หรือยาต้านเศร้า (Antidepressants)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ บรรเทาหรือป้องกันการเกิดซ้ำของอาการจากโรคอารมณ์สองขั้ว ภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ดหรือแคปซูล

คำเตือนของการใช้ยา Lithium

  • ควรแจ้งแพทย์ก่อนเสมอเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา อาการแพ้อื่น ๆ รวมถึงยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่กำลังรับประทานอยู่ในช่วงนั้น
  • ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา Lithium ที่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์ควรใช้ยาอย่างอย่างระมัดระวังและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีรายงานถึงอันตรายของยาต่อทารกในครรภ์
  • ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพื่อประเมินความเสี่ยงระหว่างผลดีและผลเสีย เนื่องจากยังไม่มีรายงานข้อมูลยืนยันความปลอดภัยเพียงพอ  
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากยา Lithium อาจทำปฏิกิริยาระหว่างยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาแคนดีซาร์แทน (Candesartan) ยาเดสเวนลาแฟ็กซีน (Desvenlafaxine) เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นทดแทนหรือปรับขนาดยาให้ใหม่
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดในระหว่างการใช้ยา Lithium
  • ผู้ป่วยกลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมาก่อน ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือหลอดเลือด โรคตับ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) กล้ามเนื้ออ่อนแรง คอพอก โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา Lithium
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ควรรับประทานยาด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง โรคหัวใจ ภาวะขาดน้ำรุนแรง ภาวะขาดโซเดียม (Sodium Depletion)

ปริมาณการใช้ยา Lithium

ปริมาณการรับประทานยา Lithium จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ปัจจัยด้านสุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งแพทย์อาจต้องตรวจและประเมินผู้ป่วยในหลายด้านก่อนให้ยา เช่น การตรวจเลือด การทำงานของไตและต่อมไทรอยด์ หรือเช็คระดับลิเทียมในเลือดเป็นระยะ ซึ่งตัวอย่างปริมาณการใช้ยามีดังนี้  

โรคอารมณ์สองขั้วและกลุ่มอาการแมเนีย

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่

  • รักษาอาการของโรคเฉียบพลัน: รับประทาน 1,800 มิลลิกรัมต่อวัน โดยยาเม็ดชนิดปกติให้รับประทาน ครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ในช่วงเช้า กลางวัน และก่อนนอน หากเป็นยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน รับประทานครั้งละ 900 มิลลิกรัม ในช่วงเช้าและเย็น
  • รักษาอาการโรคในระยะยาว: รับประทาน 900-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยยาเม็ดชนิดปกติให้รับประทาน ครั้งละ 300 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 3-4 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง ในช่วงเช้า กลางวัน และก่อนนอน หากเป็นยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน รับประทานวันละ 600 มิลลิกรัม ในช่วงเช้าและเย็น

การใช้ยา Lithium  

ยา Lithium มีอยู่หลายชนิดและปริมาณที่ใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน การใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดยา รับประทานยาเกินระยะเวลาหรือน้อยกว่าที่แพทย์กำหนด เนื่องจากเป็นยาอันตรายและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ก่อนการรับประทานยาควรแจ้งโรคประจำตัว ภาวะผิดปกติของผู้ป่วย หรืออาการแพ้ต่าง ๆ ให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะภาวะโซเดียมต่ำหรืออยู่ในช่วงรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ

โดยทั่วไปตัวยาจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์ จึงอาจต้องรับประทานยาติดต่อกันนานหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผล ทั้งนี้ ควรรับประทานยาเป็นเวลาเดิมของทุกวัน เพื่อช่วยให้ระดับของลิเทียมในเลือดเป็นปกติ และไม่ควรหยุดยาทันทีเมื่ออาการดีขึ้น ยกเว้นแพทย์สั่ง ในกรณีที่ลืมรับประทานยา Lithium ควรรับประทานทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปแทน แต่ไม่ควรเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า หากเกิดความผิดปกติหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lithium  

ยา Lithium อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น สิวขึ้น ผิวลอก รู้สึกแน่นหรืออึดอัดท้อง กล้ามเนื้อกระตุก อยากอาหารน้อยลง เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่พบได้หลังการรับประทานยาและมักจะดีขึ้นเมื่อผ่านไปสักระยะ เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังตอบสนองต่อตัวยาที่ได้รับ แต่หากพบว่าอาการรุนแรงขึ้นหรือเป็นติดต่อกันนานจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงหลังการรับประทานยา และควรไปพบแพทย์ทันทีหลังเกิดอาการ เช่น รู้สึกสับสน ความรู้สึกตัวลดลง มีปัญหาด้านความจำ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมากขึ้น ชีพจรเต้นผิดปกติ มีอาการข้อติดบริเวณแขนหรือขา มีปัญหาในการหายใจ (โดยเฉพาะเวลาทำงานหนักหรือออกกำลังกาย) อ่อนเพลียมาก เหนื่อยง่าย เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)
  • การป้องกันโรคซึมเศร้า