Drug name: วัคซีนไข้หวัดใหญ่

Description:

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

Share:

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถเป็นไข้หวัดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody) เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลและไวรัสมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

ในปัจจุบัน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ ไวรัสชนิด A B และ C โดยไวรัสชนิด A โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่กำลังระบาดอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ไวรัสชนิด B เป็นไวรัสที่ระบาดในระดับภูมิภาค และไวรัสชนิด C เป็นการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการไม่มาก และไม่ทำให้เกิดการระบาด

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556-2559 พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2559 มีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 167,220 ราย ซึ่งมากกว่าในปี 2556 ถึงเกือบ 4 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 153 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 25-34 ปี อายุ 15-24 ปี และอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมากคือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ระยอง ลำปาง และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560-19 กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 10,189 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 7-9 ปี อายุ 10-14 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ และยังไม่พบจำนวนผู้เสียชีวิต

เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

กลุ่มยา วัคซีนป้องกันโรค
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา วัคซีนใช้ฉีดเข้าที่ชั้นกล้ามเนื้อ

คำเตือนในการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเพื่อเป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้หรือไม่ควรใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่แพ้ไข่หรือโปรตีนจากไข่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมีส่วนประกอบของโปรตีนจากไข่อยู่ในปริมาณหนึ่ง เมื่อฉีดเข้าไปจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ในปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบของโปรตีนจากไข่ โดยทางองค์การอาหารและยา (FDA) อนุมัติให้ใช้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในครั้งที่ผ่านมา ควรแจ้งเงื่อนไขทางการแพทย์หรืออาการแพ้ต่าง ๆ ให้แพทย์ทราบก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีน
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ผู้ที่มีประวัติของกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร หรือกลุ่มอาการจีบีเอส (Guillain-Barré syndrome หรือ GBS) หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
  • ผู้ที่ใช้ยาต้านไวรัส เช่น อะแมนตาดีน (Amantadine) โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รีแมนตาดีน (Rimantadine) ควรแจ้งแพทย์ก่อนรับวัคซีน

ปริมาณการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ปริมาณการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือในผู้ใหญ่และเด็ก โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณการใช้วัคซีนดังต่อไปนี้

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ฉีดเพียง 1 ครั้ง ขนาด 0.5 มิลลิกรัม
  • เด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ฉีด 1-2 ครั้ง ขนาด 0.25 มิลลิลิตร เว้นระยะ 1 เดือนสำหรับเข็มที่ 2
  • เด็กที่มีอายุ 3-8 ปี ฉีด 1-2 ครั้ง ขนาด 0.5 มิลลิลิตร เว้นระยะ 1 เดือนสำหรับเข็มที่ 2

การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะฉีดเข้าที่ชั้นกล้ามเนื้อ สำหรับผู้ใหญ่ จะฉีดเข้าที่ต้นแขน สำหรับเด็กจะฉีดที่ต้นขา รวมถึงผู้ที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน-18 ปี
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป หรือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์ในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ ตับ ไต เลือด กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ผู้ที่อยู่ในสถานพยาบาล บ้านพักคนชรา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์จะส่งผลระบบภูมิคุ้มกันของมารดา ทำให้ป่วย ติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และใช้เวลาในการพักฟื้นนานกว่าปกติ การฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 70-90 และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อและการเสียชีวิตซึ่งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า ป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้สมองอักเสบ การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง หลอดลมอักเสบ การติดเชื้อที่หน้าอกที่สามารถพัฒนาไปสู่โรคปอดบวม การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น โดยภูมิคุ้มกันจากแม่สามารถถ่ายทอดไปยังทารก ทำให้ทารกหลังคลอดที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนมีภูมิคุ้มกันและมีโอกาสป่วยน้อยลง

ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ควรนั่งพักประมาณ 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีนเพื่อสังเกตอาการหรือความผิดปกติ สามารถเกิดผลข้างเคียงทั่วไปหรือผลข้างเคียงที่มีอาการรุนแรงในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนบางราย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ผลข้างเคียงทั่วไป โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน

  • อาการแดง ปวด หรือบวมที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือต้นขาซึ่งเป็นจุดที่ทำการฉีดวัคซีน รวมถึงอาการปวดศีรษะหรือปวดตามกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ก่อนการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการปวด
  • วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการก่อนการฉีดวัคซีน สามารถแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนได้ สามารถป้องกันได้ด้วยการนั่งพักสักครู่ หรือรับประทานของหวานก่อนหรือหลังการฉีดวัคซีน
  • มีไข้อ่อน ๆ ประมาณ 38 องศาเซลเซียส เป็นอาการปกติที่สามารถพบได้ทั่วไปหลังการฉีดวัคซีน สามารถรับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการได้

ผลข้างเคียงที่มีอาการรุนแรง สามารถพบได้น้อย แต่หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • อาการแพ้อย่างรุนแรง จะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยจะมีอาการได้ดังต่อไปนี้ เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง เป็นต้น
  • กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร หรือกลุ่มอาการจีบีเอส (Guillain-Barré Syndrome หรือ GBS) เป็นอาการที่พบได้ยากมากประมาณ 1 ในล้านคน โดยจะมีอาการทางระบบประสาททำให้ร่างกายอ่อนแอหรือเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับคนที่เคยพบประวัติเกี่ยวกับกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร มาก่อน ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการฉีดวัคซีน หากพบอาการหรือเกิดข้อสงสัยหลังการฉีดวัคซีนควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • การป้องกันไข้หวัดใหญ่
  • การรักษาไข้หวัดใหญ่
  • การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่