Drug name: azilsartan-ยาอะซิลซาร์แทน

Description:

Azilsartan (ยาอะซิลซาร์แทน)

Azilsartan (ยาอะซิลซาร์แทน)

Share:

Azilsartan (ยาอะซิลซาร์แทน) เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารแองจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin II) ที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เมื่อหลอดเลือดขยายและคลายตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้เพิ่มขึ้น

ยา Azilsartan เป็นยาในกลุ่มแองจิโอเทนซิน 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (Angiotensin II Receptor Antagonists: ARB) ที่แพทย์อาจสั่งจ่ายร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง หรืออาจใช้เพื่อรักษาภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) ภาวะหัวใจวาย และภาวะไตวาย เป็นต้น

เกี่ยวกับยา Azilsartan

กลุ่มยา ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers: ARB)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาความดันโลหิตสูง
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้

คำเตือนในการใช้ยา Azilsartan

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Azilsartan ทำให้ตัวยามีประสิทธิภาพลดลงหรือเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยา อาหาร และสารอื่น ๆ เพราะอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่นตามมา
  • ยานี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์จนเป็นเหตุให้ทารกเจริญเติบโตผิดปกติ หรือการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะการรับประทานยาขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2–3 จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการใช้ยาเสมอ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Azilsartan หากกำลังให้นมบุตรหรือวางแผนจะให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ มีระดับเกลือแร่ผิดปกติ มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ ตับ และไต โดยเฉพาะกรณีที่มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปยังไต
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไต และรับประทานยาที่มีส่วนผสมของยาอะลิสคิเรน (Aliskiren)
  • ผู้ป่วยควรต้องวัดระดับความดันโลหิตและตรวจเลือดเป็นระยะขณะที่ใช้ยานี้
  • หากผู้ป่วยกำลังใช้สารทดแทนเกลือที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ ใช้ยาขับปัสสาวะชนิดที่ทำให้โพแทสเซียมสูง (Potassium-Sparing Diuretic) หรือผลิตภัณฑ์โพแทสเซียมอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ
  • กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำหรืออาหารที่ปราศจากเกลือขณะใช้ยา Azilsartan ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาต่าง ๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ยาลดน้ำหนัก สารกระตุ้นต่าง ๆ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติบางชนิด เนื่องจากยาเหล่านี้อาจไปเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น
  • ระมัดระวังอากาศร้อนหรือขณะทำกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อมากเป็นพิเศษ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียน้ำ
  • ยา Azilsartan อาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะและง่วงซึมโดยเฉพาะในช่วงแรกของการใช้ยา จึงไม่ควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันอาการเวียนหัว และควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยาจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ขณะใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเสมอก่อนเข้ารับการผ่าตัด หรือเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม

ปริมาณการใช้ยา Azilsartan

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

รักษาความดันโลหิตสูง

ตัวอย่างการใช้ยา Azilsartan เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง

เด็ก รับประทานยาในปริมาณและการใช้ตามที่แพทย์สั่ง

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาที่ปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง และอาจปรับเพิ่มขึ้นโดยปริมาณสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 75 ปี รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Azilsartan

ยา Azilsartan มีวิธีการใช้ต่อไปนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ก่อนการรับประทานยา ควรตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ยาให้แน่ใจว่ายาอยู่ในสภาพดีเสมอ
  • สามารถรับประทานยา Azilsartan ก่อนหรือหลังมื้ออาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานเวลาเดิมทุกวัน
  • เมื่อใช้ยานี้ ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ ยกเว้นในกรณีแพทย์สั่งห้าม และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากอาการไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือสงสัยว่าใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น แสงแดด และเก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาและการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Azilsartan

ในระยะแรกที่รับประทานยา Azilsartan อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ท้องเสีย เวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ และไอ แต่อาการมักดีขึ้นหลังจากร่างกายคุ้นชินกับยาแล้ว หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ อาการคัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาเรื่องการหายใจ การกลืนหรือการพูด เสียงแหบผิดปกติ อาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอและใบหน้า เป็นต้น
  • มีสัญญาณของความผิดปกติในไต เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะน้อยกว่าปกติ มีเลือดปนในปัสสาวะ หรือน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ
  • มีสัญญาณของภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ
  • เหงื่อออกมาก รู้สึกอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้าผิดปกติ
  • ตาพร่ามัว
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • เวียนศีรษะรุนแรง โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนท่าลุกขึ้นนั่งอย่างรวดเร็ว หรือหมดสติ
  • เซื่องซึม หรือสับสน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • การป้องกันโรคความดันสูง
  • การรักษาโรคความดันสูง
  • การวินิจฉัยโรคความดันสูง