Drug name: ไลนากลิปติน-linagliptin

Description:

ไลนากลิปติน (Linagliptin)

ไลนากลิปติน (Linagliptin)

Share:

Linagliptin (ไลนากลิปติน) เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยตัวยาจะช่วยเพิ่มการผลิตสารอินครีติน (Incretin) ให้แก่ร่างกาย สารนี้ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดการผลิตน้ำตาลจากตับ ซึ่งยา Linagliptin จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อผู้ป่วยควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในระหว่างการใช้ยา นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยา Linagliptin บรรเทาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา  Linagliptin

กลุ่มยา ยากลุ่ม Dipeptidyl Peptidase-4 (DPP-4) Inhibitors
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการให้นมบุตรเพื่อความปลอดภัยของทารก เนื่องจากยังไม่สามารถระบุว่าตัวยาสามารถปนเปื้อนผ่านน้ำนมแม่ได้หรือไม่

คำเตือนในการใช้ยา Linagliptin

ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Linagliptin มีดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา Linagliptin แพ้ยาชนิดอื่น ๆ หรือสารอื่นที่อาจเป็นส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบของยา Linagliptin ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) หรือยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทานอื่น ๆ เนื่องจากยาดังกล่าวอาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Linagliptin ลดลง หรืออาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • เมื่อใช้ยา Linagliptin ร่วมกับยาโรคเบาหวานแบบรับประทานชนิดอื่น ๆ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis: DKA) หรือเคยป่วยด้วยภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง โรคตับอ่อนอักเสบ โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคพิษสุราเรื้อรัง หัวใจทำงานผิดปกติ 
  • ก่อนรับการรักษาทางทันตกรรมหรือการผ่าตัดใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่ใช้ รวมถึงยา Linagliptin วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่
  • แพทย์จะใช้ยา Linagliptin กับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยา Linagliptin ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี 
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวหรือการใช้เครื่องจักร เนื่องจากยา Linagliptin อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเช่นกัน

ปริมาณการใช้ยา Linagliptin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Linagliptin ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Linagliptin เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ รับประทานยา 5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Linagliptin 

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Linagliptin ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้    

  • ควรรับประทานยาหรือใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยไม่ควรปรับปริมาณยาหรือหยุดการใช้ยาเอง หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรปรับรูปแบบการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ในระหว่างการใช้ยา เพื่อให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ โดยให้รับประทานยาในเวลาเดิมทุกวันเพื่อป้องกันการลืม
  • ในระหว่างการใช้ยา แพทย์จะนัดหมายเพื่อตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถทราบได้ว่าตัวยาออกฤทธิ์ในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไปในระหว่างการใช้ยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากรู้สึกปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หิว มือสั่น อ่อนเพลีย และมึนงง ซึ่งเป็นอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • พบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากยา Linagliptin อาจทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบ รวมทั้งควรหยุดใช้ยาและพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหากมีอาการปวดท้องช่วงบนร้าวไปด้านหลัง เพราะอาจเป็นอาการของโรคตับอ่อนอักเสบได้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้เวลาที่ต้องรับประทานครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานตามปกติ ห้ามรับประทานเป็นสองเท่า
  • หากใช้ยาเกินขนาดและมีอาการเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบากหรือหมดสติ ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิดและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากมือเด็ก ความชื้น ความร้อน และสัตว์เลี้ยง
  • ห้ามผู้อื่นใช้ยาโดยเด็ดขาด เนื่องจากปริมาณการใช้ยาของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา อาการของผู้ป่วย หรือยาชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยใช้ในระหว่างการใช้ยา Linagliptin

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Linagliptin

โดยทั่วไป ยา Linagliptin อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ปวดศรีษะ มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ และท้องเสีย ซึ่งหากมีความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงควรหยุดใช้ยาแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็วที่สุด เช่น

  • มีอาการแพ้ยาหรืออาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น หายใจลำบาก คัน มีผื่นลมพิษ รอยแดง แสบผิว ผิวลอก เกิดแผลพุพอง มีไข้ แสบตา เจ็บคอ รู้สึกแน่นในลำคอหรือหน้าอก ลิ้น ปาก หน้าหรือคอบวม 
  • มีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว ขาหรือเท้าบวม หายใจไม่อิ่ม
  • มีอาการตับอ่อนอักเสบ เช่น คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปวดร้าวไปบริเวณหลัง 
  • เกิดภาวะภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง โดยจะเกิดแผลพุพอง ผิวแตกหรือคันอย่างรุนแรง
  • หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  • ตามัว
  • มีเหงื่อออกมาก ตัวเย็น
  • รู้สึกซึมเศร้า มึนงงหรือวิตกกังวล
  • อ่อนแรงผิดปกติ