Drug name: cetirizine

Description:

Cetirizine (เซทิริซีน)

Cetirizine (เซทิริซีน)

Share:

Cetirizine (เซทิริซีน) เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) มีคุณสมบัติในการรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ บรรเทาอาการคันและอาการที่เกิดจากลมพิษ รวมถึงช่วยรักษาอาการไข้หวัดได้ โดยปริมาณยาที่แนะนำคือไม่ควรเกินวันละ 10 มิลลิกรัม

เกี่ยวกับยา Cetirizine

กลุ่มยา ยาต้านการทำงานของฮีสตามีน (Antihistamine)
ประเภทยา ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ลดอาการแพ้และบรรเทาอาการหวัด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาน้ำ

คำเตือนการใช้ยา Cetirizine

  • ยา Cetirizine สามารถส่งผลข้างเคียงต่อกระบวนการคิดและการตอบสนอง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานกับเครื่องจักร หรือกิจกรรมที่ต้องการการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อใช้ยา Cetirizine เพราะจะทำให้เพิ่มการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยารักษาไข้หวัด ยาแก้แพ้ชนิดอื่น ๆ ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล และยากันชัก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนได้รับยา เนื่องจากยาชนิดนี้จะยิ่งทำให้เกิดอาการง่วงมากขึ้น
  • ควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยาชนิดนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลง หรือมีอาการไข้เมื่อใช้ยาดังกล่าว
  • ผู้มีภาวะตับและไตเสื่อม รวมทั้งผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Cetirizine

เด็ก

  • อายุ 6-23 เดือน รับประทานวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม แต่สามารถเพิ่มปริมาณเป็นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมได้ เมื่อเด็กมีอายุ 12 เดือนขึ้นไป
  • อายุ 2-5 ปี รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งเป็นครั้ง 2.5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน
  • อายุ 6 ปีขึ้นไป รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม 1 ครั้ง หรือแบ่งเป็น ครั้งละ 5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน

ผู้ใหญ่

  • รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม 1 ครั้ง หรือแบ่งเป็น ครั้งละ 5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน
  • ผู้สูงอายุ เริ่มต้นรับประทานอย่างน้อยวันละ 5 มิลลิกรัม

การใช้ยา Cetirizine

การใช้ยา Cetirizine สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร หากรับประทานยาดังกล่าวเป็นชนิดน้ำ ควรใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้ช้อนธรรมดาในการตวงเพราะอาจจะทำให้รับประทานยาเกินขนาด หรือน้อยกว่าปริมาณที่ควรจะเป็น หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากนึกได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาในการรับประทานยาครั้งถนัดไป ควรรอให้ถึงเวลาแล้วค่อยรับประทานโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา เนื่องจากการรับประทานยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้

  • เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • มีอาการถูกกดประสาท ง่วงซึม
  • ท้องเสีย
  • รูม่านตาขยาย
  • มีอาการคัน
  • มีอาการมึนงง
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ตัวสั่น
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • นอนไม่หลับ
  • ปากแห้ง

หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นควรรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังควรสังเกตอาการในระหว่างการใช้ยาด้วย หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีทีท่าว่าจะยิ่งแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน

สำหรับสตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร แม้ยาชนิดนี้จะสามารถใช้ได้ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก

ในเรื่องการเก็บรักษา ยาเซทิริซีนเป็นยาที่ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง และให้ห่างจากความชื้นและความร้อน เนื่องจากอาจทำให้ยาเสื่อมประสิทธิภาพลงได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cetirizine

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cetirizine มีค่อนข้างมาก โดยผลข้างเคียงที่พบมักมีความแตกต่างไปกันตามช่วงวัย ดังนี้

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป - อาการง่วงเหงาหาวนอน อ่อนเพลีย ปากแห้ง นอนไม่หลับ
  • เด็กอายุ 2-11 ปี - ปวดศีรษะ คออักเสบ และปวดท้อง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี - มีอาการตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากผิดปกติ มีอาการมึนงง นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายตัว

นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีก เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อย ปวดศีรษะ ปากแห้ง เจ็บคอ ไอ คลื่นไส้ ท้องผูก เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงก็สามารถพบได้เช่นกัน ได้แก่

  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • เหนื่อย มีอาการสั่น หรือนอนไม่หลับ
  • มีอาการอยู่ไม่สุข ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • มีอาการมึนงง
  • มีปัญหาในเรื่องการมองเห็น
  • ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย

ไม่เพียงเท่านั้น การแพ้ยาชนิดนี้ยังส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ถือเป็นสัญญาณอันตราย เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ มีอาการบวม ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบหยุดยาทันที หรือหากอาการค่อนข้างรุนแรง ควรรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Undecylenic Acid (อันดีไซลีนิก แอซิด)
  • น้ำมูกไหล
  • ลมพิษ