Drug name: amphotericin-b

Description:

Amphotericin B

Amphotericin B

Share:

Amphotericin B (แอมโฟเทอริซิน บี) เป็นยาต้านเชื้อราซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อราที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคราแอสเพอร์จิลลัส และการติดเชื้อราที่แพร่กระจายทั่วร่างกาย โดยไม่แนะนำให้ใช้รักษาการติดเชื้อราที่ไม่รุนแรง เช่น เชื้อราในช่องปาก ช่องคลอด หรือลำคอ นอกจากนี้ ยังอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Amphotericin B มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Amphotericin B

กลุ่มยา ยาต้านเชื้อรา
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อราชนิดรุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยาอม ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Amphotericin B

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากได้รับการถ่ายเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิด
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการข้างเคียงภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังจากเริ่มใช้ยา หากพบว่ามีอาการที่รุนแรง ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามให้นมบุตรระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ในระหว่างที่ใช้ยานี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับไต และโดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา แต่หากอาการยังคงอยู่ ควรไปปรึกษาแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Amphotericin B

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะการติดเชื้อและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าช่องไขสันหลัง 25 ไมโครกรัม โดยปริมาณยาเริ่มต้นที่ 25 ไมโครกรัม/ครั้ง และค่อย ๆ เพิ่มจนถึงปริมาณสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้ ปริมาณการให้ยาระดับปกติอยู่ที่ 0.25-1 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง

เยื่อบุหัวใจอักเสบ

ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.6-1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังเข้ารับการผ่าตัดแล้ว หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยให้ยาวันเว้นวันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์

การติดเชื้อรากระจายทั่วตัวอย่างรุนแรง

ผู้ใหญ่ เริ่มต้นฉีดยาปริมาณ 250 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน ค่อย ๆ เพิ่มจนถึงปริมาณสูงสุดเป็น 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ฉีดยาปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม อาจใช้ยาทุกวันหรือเมื่อจำเป็นเท่านั้น สำหรับยาที่ฉีดในแต่ละวัน ต้องฉีดยาเป็นช่วงเวลาห่างกันทุก 2-4 ชั่วโมง โดยใช้ยาที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ในสารละลาย 5 เปอร์เซ็นต์ หากการรักษาขาดช่วงนานเกินกว่า 7 วัน ให้เริ่มฉีดยาใหม่ที่ปริมาณ 250 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน และเพิ่มปริมาณอย่างช้า ๆ

โรคแอสเปอร์จิลโลสิส

ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.6-0.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน

โรคเชื้อราในปาก

ผู้ใหญ่

ยาน้ำ รับประทานยาปริมาณ 1 มิลลิลิตรที่มีตัวยา 100 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยให้อมยาไว้ประมาณ 2-3 นาทีก่อนกลืน

ยาอม อมยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน หรือหากจำเป็นให้เพิ่มเป็น 8 ครั้ง/วัน

ยาน้ำแขวนตะกอน รับประทานยาปริมาณ 100-200 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน และรับประทานต่อไปอีก 48 ชั่วโมงหลังอาการดีขึ้นแล้ว  

โรคติดเชื้อราในทางเดินปัสสาวะ

ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 50 มิลลิกรัม ผสมกับสารละลายน้ำ 1,000 มิลลิลิตร/วัน โดยสวนล้างกระเพาะปัสสาวะเป็นระยะเวลา 5-10 วัน หรือจนกว่าเชื้อจะหมดไป

การใช้ยา Amphotericin B

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • การหยุดใช้ยาเร็วกว่าที่แพทย์สั่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • หากรับยาฉีดมาใช้เองที่บ้าน ผู้ป่วยต้องศึกษาขั้นตอนการเตรียมยาและวิธีใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อน เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
  • ก่อนใช้ยาให้ตรวจสอบความผิดปกติของตัวยา และห้ามใช้ยาหากพบความผิดปกติิิ เช่น ยาเปลี่ยนสี
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาที่ถูกต้อง และปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Amphotericin B

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Amphotericin B ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เวียนศีรษะรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง หมดสติ
  • รู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยมาก
  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ
  • ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น สับสน อารมณ์เปลี่ยนแปลง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ ชัก ไม่อยากอาหาร อาเจียน และท้องไส้ปั่นป่วนรุนแรง
  • ไตผิดปกติ ทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ตับผิดปกติ ทำให้มีอาการข้างเคียง เช่น ไม่อยากอาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด
  • หากใช้ยา Amphotericin B แบบยาฉีด อาจทำให้หลอดเลือดระคายเคือง และหากตัวยาซึมออกมาสู่ผิวหนัง อาจทำมีอาการ เช่น แสบ บวม แดง เจ็บปวด หรือมีของเหลวซึมออกมาจากผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา
  • หากเป็นยาฉีดเข้าช่องไขสันหลัง อาจพบอาการตาพร่า อ่อนเพลีย ปวดขา ปวดหลัง ปวดคอ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน

นอกจากนี้ ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย ปวดข้อ และน้ำหนักลด เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นหรือหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Fissured Tongue
  • Listeriosis
  • เชื้อราในปาก