Drug name: ยาพ่นจมูก

Description:

ยาพ่นจมูก

ยาพ่นจมูก

Share:

ยาพ่นจมูก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของตัวยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูก จาม เป็นต้น หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยใช้วิธีพ่นเข้าไปทางช่องจมูก

ยาพ่นจมูกมีทั้งชนิดหาซื้อใช้ได้เองหรือต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ และมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาสเตียรอยด์ เป็นยาลดการอักเสบที่มักเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับนำมาใช้รักษาอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น อาการบวมในจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก หรืออาจนำมาใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โพรงจมูกอักเสบ โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-Allergic Rhinitis) ริดสีดวงจมูก เป็นต้น หลังใช้ยานี้ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายในประมาณ 2-3 วัน หรืออาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาบูเดโซไนด์ ยาบีโคลเมทาโซน ยาฟลูติคาโซน และยาโมเมทาโซน

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้แพ้ เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งผลกระทบจากสารฮีสตามีนที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ช่วยลดอาการคัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล และจาม ยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้แพ้มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงน้อยกว่ายาแก้แพ้ชนิดรับประทาน

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอะซีลาสตีน

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาลดอาการคัดจมูก เป็นยาลดอาการคัดจมูก ออกฤทธิ์โดยการลดอาการบวมของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อในจมูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัดจมูก

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาออกซีเมตาโซลีน และยาฟีนิลเอฟรีน

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) เป็นยาลดอาการน้ำมูกไหล ออกฤทธิ์โดยช่วยป้องกันการผลิตเมือกหรือมูกออกมาจากต่อมภายในจมูกมากเกินไป

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาไอปราโทรเปียม

ยาพ่นจมูกกลุ่มมาสต์เซลล์อินฮิบิเตอร์ (Mast Cell Inhibitor) เป็นยาป้องกันการปลดปล่อยสารฮีสตามีนในร่างกาย ช่วยลดอาการที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นต้น โดยอาจช่วยลดอาการดังกล่าวได้ภายใน 30 นาที และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 หรือ 2 สัปดาห์ ก่อนช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกิดการกำเริบของโรคภูมิแพ้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้กำเริบของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาโครโมลินโซเดียม

วิธีใช้ยาพ่นจมูก

การใช้ยาพ่นจมูกในเบื้องต้นทำได้โดยเริ่มจากการชำระล้างช่องจมูก จากนั้นเตรียมที่พ่นยาและเขย่าขวดยาก่อนใช้ เริ่มพ่นยาโดยใช้นิ้วปิดรูจมูกไว้ 1 ข้าง นำหัวฉีดจ่อใต้รูจมูกข้างที่ไม่ได้ปิดโดยให้นิ้วโป้งอยู่ใต้ขวดยาพ่น จากนั้นค่อย ๆ กดพ่นยาและหายใจเข้าช้า ๆ ปล่อยให้ยาทำงาน ทั้งนี้ ไม่ควรพ่นเข้าหาผนังกั้นโพรงจมูก รวมทั้งห้ามล้างจมูกและพยายามอย่าจามในทันทีหลังจากที่พ่นยา เมื่อพ่นยาเรียบร้อยแล้วควรทำความสะอาดช่องคอโดยการบ้วนปากและกลั้วคอทุกครั้ง

คำเตือนในการใช้ยาพ่นจมูก

ยาพ่นจมูกแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาพ่นจมูก ได้แก่

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาพ่นจมูกชนิดใดก็ตาม รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยหรือประสิทธิภาพของยาบางชนิด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาพ่นจมูกกลุ่มยาสเตียรอยด์ หากผู้ป่วยเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหรือเกิดการบาดเจ็บที่จมูก มีแผลที่จมูก หรือเคยเป็นโรคต้อกระจก ต้อหิน โรคหืด มีการติดเชื้อ เช่น โรคเริมที่ตา โรคอีสุกอีใส โรคหัด วัณโรค หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อเหล่านี้เมื่อไม่นานมานี้
  • ห้ามใช้ยาพ่นจมูกกลุ่มยาลดอาการคัดจมูก เช่น ยาออกซี่เมตาโซลีนนานกว่า 3-7 วัน การใช้ยานี้นานหรือบ่อยเกินกว่าที่แพทย์สั่งอาจทำให้อาการแย่ลงหรือกลับมาเป็นซ้ำได้ เนื่องจากเมื่อฤทธิ์ของยาที่ช่วยหดหลอดเลือดหมดไป หลอดเลือดจะกลับมาขยายตัวเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม ทำให้เยื่อบุจมูกเกิดอาการบวมขึ้นได้อีกครั้ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาพ่นจมูกกลุ่มยาลดอาการคัดจมูก หากมีภาวะความดันโลหิตสูง ต้อหิน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคเบาหวาน ปัสสาวะลำบากเนื่องจากต่อมลูกหมากโต หรือเคยมีอาการชัก ส่วนผู้สูงอายุควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูง
  • ผู้ป่วยที่หายใจมีเสียงหวีดจากโรคหืดหรือไซนัสอักเสบ มีไข้ มีน้ำมูกเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาพ่นจมูกยาพ่นจมูกกลุ่มมาสต์เซลล์อินฮิบิเตอร์ เช่น ยาโครโมลินโซเดียม
  • ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินหรือโรคต่อมลูกหมากโตควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาพ่นจมูกกลุ่มยา เช่น ยาไอปราโทรเปียม เพราะแพทย์อาจไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้
  • หากยาพ่นจมูกไอปราโทรเปียมเข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากยาเข้าตาแล้วทำให้มองเห็นไม่ชัด เจ็บตา หรืออาการของโรคต้อหินแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เนื่องจากยาพ่นจมูกกลุ่มยาสเตียรอยด์บางชนิดนั้นไม่อนุญาตให้ใช้กับเด็ก ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้เด็กใช้ยาพ่นจมูกกลุ่มนี้
  • ยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้แพ้ใช้กับเด็กที่มีอายุ 5-11 ปี หรือ 12 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของยา
  • ยาพ่นจมูกกลุ่มยาลดอาการคัดจมูกใช้กับเด็กที่มีอายุ 6 ปี ขึ้นไป
  • ยาพ่นจมูกกลุ่มมาสต์เซลล์อินฮิบิเตอร์ใช้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
  • ยาพ่นจมูกกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิกใช้กับเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป
  • ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยาพ่นจมูกชนิดนั้น ๆ อยู่
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร และแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากเกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่กำลังใช้ยานี้  
  • หญิงที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาพ่นจมูกบางชนิดสามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาไปยังทารกและอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาพ่นจมูก

เนื่องจากยาพ่นจมูกแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง

ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาพ่นจมูกแต่ละกลุ่ม ได้แก่

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาสเตียรอยด์

  • แสบจมูก จมูกแห้ง
  • บวม แดง และคันในจมูก
  • เลือดกำเดาไหล
  • ระคายเคืองคอ คอแห้ง
  • มีรสชาติไม่พึงประสงค์ในปาก

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาแก้แพ้

  • ไอ เจ็บคอ
  • ปากแห้ง
  • น้ำมูกไหล จาม
  • เลือดกำเดาไหล
  • เจ็บหรือระคายเคืองในจมูก
  • มีรสชาติไม่พึงประสงค์ในปาก
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้
  • ง่วงซึม
  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • ท้องไส้ปั่นป่วน หรืออาเจียน
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาลดอาการคัดจมูก

  • ระคายเคืองในจมูก
  • น้ำมูกไหล
  • แสบหรือปวดจมูก

ยาพ่นจมูกกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิก

  • ปวดศีรษะ
  • ระคายเคืองในจมูก
  • เลือดกำเดาไหล
  • เจ็บคอ

ยาพ่นจมูกกลุ่มมาสต์เซลล์อินฮิบิเตอร์

  • น้ำมูกไหล จาม แสบจมูก
  • หายใจเสียงหวีด
  • ไอ สำลัก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอื่น ๆ
  • มีอาการของโรคหืดแย่ลง ซึ่งเกิดจากการแพ้ยา

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหล
  • ริดสีดวงจมูก