Drug name: cloxacillin

Description:

Cloxacillin (คลอกซาซิลลิน)

Cloxacillin (คลอกซาซิลลิน)

Share:

Cloxacillin (คลอกซาซิลลิน) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนิซิลิน (Penicillin) ทำงานโดยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ รวมถึงการอักเสบที่เยื่อหุ้มหัวใจ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ การติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อและผิวหนัง รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งและฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

เกี่ยวกับ Cloxacillin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนิซิลิน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดแคปซูล ผงแป้งละลายน้ำ และยาฉีด


คำเตือนในการใช้ยา Cloxacillin

การใช้ยา Cloxacillin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลิน เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ยาแอมปิซิลลิน (Ampicillin)
  • ผู้ที่แพ้ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เช่น ยาเซฟาเลกซิน (Cephalexin) ยาเซฟูรอกซิม (Cefuroxime)
  • ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไตและในเด็กแรกเกิดที่ไตยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต จะมีความไวต่อยาชนิดนี้ได้
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาในกลุ่มเพนิซิลินสามารถขับออกผ่านทางนมแม่ไปสู่ทารกได้
  • ผู้ที่ใช้ยาชนิดอื่นหรือสมุนไพร เช่น กรดฟูซิดิก (Fusidic Acid) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) กัวกัม (Guar Gum) รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live Vaccine)
  • ผู้ที่เข้ารับการตรวจเกี่ยวกับเบาหวานในปัสสาวะ เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

ปริมาณการใช้ยา Cloxacillin

ยา Cloxacillin เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ยารับประทานชนิดแคปซูล ควรรับประทานตอนท้องว่าง ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 250-500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็กแรกเกิดถึงอายุ 7 วันและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม รับประทานขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 7-28 วันและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม หรือเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 วันและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 7-28 วันและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง และไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน ในผู้ป่วยเด็กที่มีการติดเชื้อรุนแรงสามารถเพิ่มขนาดยาได้สูงสุด 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกิน 12 กรัมต่อวัน
  • ยาฉีด
  • ผู้ใหญ่ ใช้ขนาด 1-2 กรัม ทุก 6 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น สามารถเพิ่มขนาดเป็น 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง
  • เด็กแรกเกิดถึงอายุ 7 วันและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 7-28 วันและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม หรือเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 วันและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 7-28 วันและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม ใช้ขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง และไม่เกิน 4 กรัมต่อวันในผู้ป่วยเด็กที่มีการติดเชื้อรุนแรงสามารถเพิ่มขนาดยาได้สูงสุด 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกิน 12 กรัมต่อวัน

การใช้ยา Cloxacillin

  • ยา Cloxacillin เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ขนาดและปริมาณขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อาการ ความรุนแรง อายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับผู้อื่น
  • หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจติดตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตรวจการทำงานของตับและไต การตรวจเม็ดเลือด เป็นต้น
  • หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
  • ควรเก็บยาชนิดแคปซูลไว้ที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 15-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง และควรเก็บยาน้ำในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
  • ควรทิ้งยาที่ไม่ได้ใช้แล้วหลัง 14 วัน เพราะประสิทธิภาพของยาจะลดลง ไม่ควรทิ้งยาที่หมดอายุลงในชักโครก และควรเก็บให้ไกลจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cloxacillin

ยา Cloxacillin เป็นยาที่แพทย์สั่งโดยประเมินจากอาการของผู้ป่วยแต่ละราย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ดังต่อไปนี้

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น

  • ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร และแผลในปาก

ผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อย และไม่เป็นอันตราย เช่น

  • บริเวณลิ้นอาจเปลี่ยนเป็นสีดำลักษณะเป็นเส้น ๆ สามารถหายไปเองได้หลังจากการใช้ยา รวมถึงการรักษาสุขอนามัยที่ดีในช่องปากด้วยการแปรงลิ้นหลังแปรงฟันวันละ 2 เวลา สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือเภสัชกร
  • อาจเกิดคราบขาวในช่องปากหรือตกขาวผิดปกติในผู้หญิง หลังจากใช้ยานี้ในการรักษาระยะยาว ควรไปพบแพทย์

ผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อย แต่เป็นอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น

  • อาจเกิดอาการที่ผิดปกติ เช่น มีอาการเหนื่อย เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มีอาการเจ็บหรือบวมตามข้อ
  • อาจเกิดอาการที่พบได้ยากแต่มีความรุนแรง เช่น มีอาการช้ำหรือเลือดออกง่าย ปริมาณและสีของปัสสาวะแปลกไป คลื่นไส้อาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้อง ตาหรือผิวมีสีเหลือง
  • อาจเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคันหรือบวมโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น หรือลำคอ เป็นไข้ วิงเวียนศีรษะ รวมถึงหายใจลำบาก

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock)
  • โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah Virus)