Drug name: citalopram-ไซตาโลแพรม

Description:

Citalopram (ไซตาโลแพรม)

Citalopram (ไซตาโลแพรม)

Share:

Citalopram (ไซตาโลแพรม) เป็นยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitor (SSRI) ออกฤทธิ์ช่วยฟื้นฟูสมดุลของสารเซโรโทนินในสมอง นำมาใช้รักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าจากโรคไบโพลาร์ โรคแพนิคชนิดที่มีหรือไม่มีโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Citalopram มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Citalopram

กลุ่มยา Selective Serotonin Reuptake Inhibitor (SSRI)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าจากโรคไบโพลาร์ โรคแพนิคชนิดที่มีหรือไม่มีโรคกลัวที่ชุมชน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Citalopram

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังใช้ยาพิโมไซด์ หรือมีประวัติแพ้ยา Citalopram และยาเอสซิตาโลแพรม แพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ห้ามใช้ยานี้หากกำลังใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitor (MAOI) ในช่วง 14 วันก่อนหน้า เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด และยาลีเนโซลิด เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีเลือดออกผิดปกติหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นโรคไตหรือโรคตับ เป็นโรคต้อหินมุมปิด เป็นโรคลมชักหรือมีอาการชัก เป็นโรคหัวใจ มีภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า หรือมีประวัติโรคหัวใจขาดเลือด มีประวัติหรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นกลุ่มอาการคิวทียาว (Long QT Syndrome) มีภาวะเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล เป็นโรคไบโพลาร์ รวมถึงมีประวัติใช้ยาเสพติดหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
  • แพทย์จะตรวจสอบอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มใช้ยาครั้งแรก เพราะพบว่ามีผู้ป่วยบางรายที่อาจมีความคิดฆ่าตัวตายเมื่อเริ่มใช้ยา ทั้งนี้ บุคคลใกล้ชิดก็ต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยาในระหว่างที่ตั้งครรภ์โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการใช้ยากลุ่ม SSRI ระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ปอดมีความผิดปกติรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยา Citalopram เพราะยาอาจซึมผ่านสู่น้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Citalopram

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ภาวะซึมเศร้า และภาวะซึมเศร้าจากโรคไบโพลาร์

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/วัน เพิ่มปริมาณยาสูงสุดได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วันหลังผ่านไป 1 สัปดาห์
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณสูงสุดต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

โรคแพนิคชนิดที่มีหรือไม่มีโรคกลัวที่ชุมชน 

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน และเพิ่มปริมาณยาไปจนถึง 20 มิลลิกรัม หลังผ่านไป 1 สัปดาห์
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณสูงสุดต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Citalopram

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • หากเป็นยารับประทานชนิดน้ำ ควรวัดปริมาณยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับยาโดยเฉพาะ
  • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนครบ โดยอาจใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์ กว่าอาการจะดีขึ้น และหากอาการไม่ดีขึ้นให้แจ้งแพทย์ทันที
  • ห้ามหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยา
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Citalopram

การใช้ยา Citalopram อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและความจำ ง่วงซึม ปวดศีรษะ ปากแห้ง มีเหงื่อออกมาก เหน็บชา อยากอาหารมากขึ้น คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว สั่น นอนไม่หลับ เหนื่อย น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถึงจุดสุดยอดได้ยาก มีอาการหวัดอย่างจาม คัดจมูก และเจ็บคอ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • วิงเวียน คล้ายจะหมดสติ
  • มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพคล้ายมองผ่านอุโมงค์ เจ็บตา ตาบวม หรือเห็นรัศมีรอบดวงไฟ
  • ปวดศีรษะพร้อมกับเจ็บหน้าอกและเวียนศีรษะรุนแรง หน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว หรือใจสั่น
  • มีปฏิกิริยาทางระบบประสาทที่รุนแรง ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น กล้ามเนื้อเกร็งอย่างมาก มีไข้สูง มีเหงื่อออกมาก สับสน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ สั่น รู้สึกคล้ายจะหมดสติ เป็นต้น
  • ระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ สับสน พูดไม่ชัด คลื่นไส้ มีปัญหาในการทรงตัว อ่อนเพลียรุนแรง เป็นต้น
  • มีระดับของสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น กระสับกระส่าย หลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระบบต่าง ๆ ในร่างกายขาดการประสานงานกัน หน้ามืด และร่างกายตอบสนองมากกว่าปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)
  • พฤติกรรมการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Catatonia)