Drug name: ala

Description:

ALA (กรดอัลฟาไลโปอิก)

ALA (กรดอัลฟาไลโปอิก)

Share:

ALA (กรดอัลฟาไลโปอิก) มีชื่อเต็มว่า Alpha-Lipoic Acid เป็นกรดไขมันที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นเองและมีการสังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการ นิยมใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจสามารถช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากความเสียหาย รักษาระดับวิตามินซี หรือวิตามินอีในร่างกาย ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและให้พลังงานกับอวัยวะต่าง ๆ และพบว่ามีการใช้ในกรณีศึกษาและงานวิจัยที่อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการจากโรคได้ เช่น อาการเส้นประสาทอักเสบจากเบาหวาน โดยสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ผักโขม บร็อกโคลี่ มันฝรั่ง ยีสต์ เนื้อแดง เครื่องใน เช่น ตับหรือไต เป็นต้น

เกี่ยวกับ ALA

กลุ่มยา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
ประเภทยา หาซื้อเองได้
สรรพคุณ ต้านอนุมูลอิสระ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดแคปซูล

คำเตือนในการใช้ ALA

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ ผู้ที่ขาดวิตามินบีหนึ่ง ผู้ที่มีการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวอื่นเป็นประจำอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ALA เพื่อทำการปรับขนาดและปริมาณยาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ ALA เพราะต้องปรับขนาดและปริมาณให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินกว่าระดับปกติ
  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อใช้ ALA ร่วมกับยาที่ใช้ในการทำคีโม (Chemotherapy) หรือทำให้เกิดปฏิกิริยาร่วมกับยาตัวอื่น ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ ยาคลายเครียด ยาสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม หรือยาขยายหลอดเลือด (สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคความดันโลหิตสูง)
  • ยังไม่มีกรณีศึกษาและงานวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ ALA กับเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร

ปริมาณการใช้ ALA

ปริมาณการใช้ ALA ขึ้นอยู่กับแต่ละจุดประสงค์ เช่น

  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร - ชนิดแคปซูล 300 มิลลิกรัม 1-2 ครั้งต่อวัน
  • อาการหรือโรคที่เกี่ยวข้อง - ผู้ป่วยอาการเส้นประสาทอักเสบจากเบาหวาน ควรใช้ในปริมาณ 300-600 มิลลิกรัมต่อวัน ควรรับประทานตอนท้องว่างหรือ 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร ห้ามเคี้ยว

การใช้ ALA  

ในปัจจุบันองค์การอาหารและยา (FDA) ยังไม่มีการอนุมัติใช้ ALA ในการใช้ทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่มีการนำไปใช้ในกรณีศึกษาและงานวิจัยถึงความเป็นไปได้ที่ ALA อาจจะมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการหรือเงื่อนไขของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น

  • การใช้ยาที่มีส่วนผสมของ ALA ร่วมกับโคเอ็นไซม์คิวเท็น แมงกานีส โอเมก้าสาม และซีลีเนียม เป็นเวลา 2 เดือนก่อนและ 1 เดือนหลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดบายพาส อาจจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้
  • การใช้ยาที่มีส่วนผสมของ ALA ร่วมกับวิตามินซี วิตามินอี และกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acids) พร้อมกับการรักษาด้วยแสงบำบัด (Light Therapy) ทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาจจะช่วยปรับสีผิวในผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวได้
  • การรับประทาน ALA เป็นเวลา 3-5 สัปดาห์ของการรักษา อาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทอักเสบจากเบาหวานได้ เช่น อาการแสบร้อน ปวด ชา ที่แขนและขาในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
  • การรับประทาน ALA ขนาด 300 มิลลิกรัม เป็นเวลา 2-8 สัปดาห์ 1 ครั้งก่อนและหลังการบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) อาจจะช่วยลดขนาดของแผลได้
  • การรับประทาน ALA ขนาด 1,800 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 20 สัปดาห์ อาจจะช่วยลดน้ำหนักในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้นิยามของผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน คือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีหลายกรณีศึกษาและงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ALA อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการหรือเงื่อนไขของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น

  • การรับประทาน ALA ขนาด 300 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน ไม่สามารถรักษาโรคตับที่เป็นผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้
  • การรับประทาน ALA ขนาด 300 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
  • การรับประทาน ALA ขนาด 600 มิลลิกรัม ร่วมกับวิตามินซีและวิตามินอี อาจจะไม่สามารถป้องกันอาการจากโรคจากการขึ้นที่สูงได้ เช่น การขาดออกซิเจน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ที่มักเกิดในผู้ที่ไม่ชินกับการขึ้นไปในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 2,438 เมตรขึ้นไป
  • การรับประทาน ALA ขนาด 600 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 2 ปี ไม่สามารถรักษาความเสียหายของจอประสาทตาจากเบาหวานได้
  • การรับประทาน ALA ขนาด 600-900 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 2 ปี อาจจะไม่มีผลต่อการทำงานของสมองในผู้ป่วยที่เป็นโรคความจำเสื่อม
  • การรับประทาน ALA ไม่สามารถรักษาอาการทางสมองจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือปัญหาจากเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับหัวใจได้

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ALA ที่วางขายทั่วไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้งาน เพราะในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการควบคุมการผลิตและพบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะเป็นพิษและยาอื่น ๆ ทั้งนี้ควรอ่านฉลากการใช้งาน ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่ากำหนด และควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องห่างจากความชื้นและความร้อน

ผลข้างเคียงจากการใช้ ALA

การใช้ ALA อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น

  • มีผื่นคันขึ้นที่บริเวณผิวหนัง
  • คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ
  • ในผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว สับสน กระวนกระวาย รู้สึกจะเป็นลม