Drug name: อัลปราโซแลม

Description:

อัลปราโซแลม (Alprazolam)

อัลปราโซแลม (Alprazolam)

Share:

อัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ที่ใช้รักษาอาการในกลุ่มโรควิตกกังวลและตื่นตระหนก ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า ภาวะติดสุราเรื้อรัง รวมถึงยังใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อและยาระงับอาการชักด้วย 

ในประเทศไทยจัดให้ยาอัลปราโซแลมเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งต้องได้รับการจ่ายยาโดยสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตในการครอบครองเท่านั้น เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทส่วนกลางในสมอง ส่งผลให้มีการนำยาชนิดนี้ไปใช้ในทางที่ผิดอย่างการก่ออาชญากรรมหรือการล่วงละเมิดทางเพศ 

 

เกี่ยวกับยาอัลปราโซแลม

กลุ่มยา ยาแก้เครียด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ คลายความกังวล ตื่นตระหนกตกใจ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากจำเป็นต้องใช้ยา รวมถึงผู้ที่กำลังให้นมบุตร หากกำลังใช้ยาอยู่ไม่ควรให้นมบุตรเพราะตัวยาสามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาและอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเด็กทารกได้
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยาอัลปราโซแลม

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทุกชนิด ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา และหากมีประวัติแพ้ยาอัลปราโซแลม ห้ามใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ เพราะตัวยาอาจส่งผลเสียต่อทารกได้
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย
  • ผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และควรระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (Myasthenia Gravis) โรคไตวาย โรคตับ โรคสุราเป็นพิษ โรคต้อหิน และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ได้
  • ตัวยามีฤทธิ์ในการกดระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักรต่าง ๆ ที่เสี่ยงอันตรายหลังการรับประทานยา
  • ห้ามใช้ยาอัลปราโซแลมร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดทุกชนิด เพราะตัวยาจะเพิ่มฤทธิ์การกดระบบประสาทส่วนกลาง กดระบบการหายใจ และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 
  • ในกรณีที่ต้องรับประทานยาควบคู่กับยาบางกลุ่ม เช่น ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน หรือยาปฏิชีวนะบางตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะอาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงได้
  • การใช้ยาอัลปราโซแลมในปริมาณที่มากเกินไปหรือการหยุดใช้ยาทันทีโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างอาการเสพติดและอาการถอนยาได้

ปริมาณการใช้ยาอัลปราโซแลม

ปริมาณการใช้ยาอัลปราโซแลมจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

ตัวอย่างการใช้ยาอัลปราโซแลมเพื่อรักษาโรควิตกกังวล

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยา 0.25–0.5 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาหากจำเป็น โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ เริ่มรับประทานยา 0.25 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง นอกจากนี้ให้รับประทานยาเหมือนผู้ใหญ่

โรคแพนิค (Panic Disorder) 

ตัวอย่างการใช้ยาอัลปราโซแลมเพื่อรักษาโรคแพนิค 

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยา 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2- 3 ครั้ง สามารถค่อย ๆ เพิ่มปริมาณหากจำเป็นไม่เกินวันละ 1 มิลลิกรัม โดยทั่วไปใช้ปริมาณ 3-6 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ เริ่มรับประทานยา 0.25 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง นอกจากนี้ให้รับประทานยาเหมือนผู้ใหญ่

การใช้ยาอัลปราโซแลม

แพทย์จะสั่งจ่ายยาตามอาการหรือชนิดของโรคเป็นหลัก รวมไปถึงการพิจารณาอายุ ประวัติการแพ้ยา และการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยด้วย โดยรูปแบบยาและระดับความเข้มข้นของตัวยาที่ใช้รักษาในผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยาในรูปแบบเม็ด ขนาด 0.25, 0.5 และ 1 มิลลิกรัม

ตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีและออกฤทธิ์ได้เร็วภายใน 1–2 ชั่วโมงหลังรับประทาน ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรีบรับประทานทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยาของรอบถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า  

การรับประทานยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนดหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานนอกเหนือจากคำสั่งแพทย์อาจส่งผลให้เกิดอาการดื้อยาหรือเกิดผลข้างเคียงของการใช้ยาเกินขนาดได้ หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่ใช้ยา ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ การเก็บรักษายาควรเก็บในที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ปฏิกิริยาระหว่างยาอัลปราโซแลมกับยาอื่น

ยาอัลปราโซแลมอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาที่ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เพราะตัวยาจะเพิ่มฤทธิ์กดระบบประสาท กดระบบการหายใจ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) 
  • ยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล (Azole Antifungal) เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 
  • ยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลด์ เช่น ยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) และยาปฏิชีวนะในกลุ่มไรฟามัยซิน (Rifamycins) เช่น ยาไรแฟมพิน (Rifampin)
  • ยากันชักบางชนิด เช่น ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) 

ตัวอย่างยาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาอัลปราโซแลมเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอัลปราโซแลม

การใช้ยาอัลปราโซแลมอาจทำให้เกิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างอาการลมพิษ หายใจไม่ออก และมีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที 

รวมถึงอาจเกิดผลข้างเคียงอื่น เช่น ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ สายตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการจดจำลดลง มีปัญหาด้านการพูด มีอาการซึมเศร้า หรืออาจเกิดปฏิกิริยาในทางตรงกันข้ามอย่างตื่นเต้น ใจสั่น หรือกังวล ก็ได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ หากหยุดใช้ยาอย่างกระทันหันอาจทำให้เกิดอาการถอนยาขึ้นได้ ซึ่งอาหารถอนยาสามารถเกิดขึ้นนานถึง 1 ปีหลังจากหยุดใช้ยาหรืออาจเกิดขึ้นนานกว่านั้น ซึ่งอาการถอนยามักมีอาการดังนี้

  • การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อผิดปกติ และอาจมีอาการชัก
  • รู้สึกแสบร้อน หรือรู้สึกยุบยิบใต้ผิวหนังเหมือนมีตัวอะไรไต่
  • เปลี่ยนแปลงอารมณ์หรือพฤติกรรมอย่างกะทันหันและรุนแรง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดและการจดจำ รวมถึงมีปัญหาในการนอนหลับ 
  • เกิดความสับสน วิตกกังวล ซึมเศร้า ประสาทหลอน หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาหรือหลังจากการหยุดใช้ยาอัลปราโซแลม ควรไปปรึกษาแพทย์