Drug name: cilostazol-ซิลอสทาซอล

Description:

Cilostazol (ซิลอสทาซอล)

Cilostazol (ซิลอสทาซอล)

Share:

Cilostazol (ซิลอสทาซอล) เป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่มีฤทธิ์หยุดการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย ขยายหลอดเลือดที่ขา และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น นำมาใช้ลดอาการปวดและตะคริวที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินหรือการออกกำลังกาย บรรเทาอาการเหน็บชาและปวดขา หรือใช้รักษาอาการปวดขาเป็นระยะเนื่องจากขาดเลือด และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทยไม่ได้บรรจุยา Cilostazol ไว้ในบัญชียา เพราะยานี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ และไม่มีการวิจัยเพียงพอที่จะรับรองได้ว่ายานี้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยคุ้มค่ากับราคา ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Cilostazol

กลุ่มยา ยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง 
สรรพคุณ รักษาอาการปวดขาเป็นระยะเนื่องจากขาดเลือด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด

คำเตือนในการใช้ยา Cilostazol

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกในสมอง เลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะภาวะหัวใจวาย เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ก่อนใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด เพราะมียา วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เพราะการใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • หากต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษา พยาบาล และเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยา Cilostazol เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จึงจะได้ผลการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • ระหว่างที่ใช้ยา Cilostazol ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ระหว่างที่ใช้ยา Cilostazol ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกง่ายกว่าปกติ จึงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลและมีเลือดออก
  • ผู้ป่วยที่รับประทานเกรปฟรุตหรือดื่มน้ำเกรปฟรุตเป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Cilostazol

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

อาการปวดขาเป็นระยะเนื่องจากขาดเลือด
ผู้ใหญ่ รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้หยุดใช้ยา หากใช้ยาติดต่อกัน 3 เดือน แล้วอาการไม่ดีขึ้น

การใช้ยา Cilostazol

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง และระวังไม่ให้ลืมรับประทานยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษา
  • ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องและครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • โดยทั่วไปผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นเมื่อใช้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่จะเห็นผลลัพธ์จากการใช้ยาอย่างเต็มที่เมื่อใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 12 สัปดาห์
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรอบถัดไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ห่างจากความชื้น และพ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cilostazol

การใช้ยา Cilostazol อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ท้องเสีย อุจจาระผิดปกติ ระคายเคืองจมูกหรือคอ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Cilostazol ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดังหวีด มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • อาการของการมีเลือดออกภายในร่างกาย เช่น อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำหรือสีแดง เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกมาก หรือมีเลือดไหลไม่หยุด
  • จำนวนของเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อ โดยอาจมีอาการของการติดเชื้อที่สังเกตได้ เช่น มีไข้ หนาวสั่น หรือเจ็บคอ แต่เป็นผลข้างเคียงที่พบได้น้อย
  • แขนหรือขาบวม
  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดปกติ
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ

นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Baker's cyst
  • Bursitis
  • Cauda Equina Syndrome (กลุ่มอาการกดทับรากประสาทส่วน Cauda Equina)