Drug name: คาริพราซีน

Description:

คาริพราซีน

คาริพราซีน

Share:

Cariprazine (คาริพราซีน) เป็นยารักษาอาการทางจิตบางชนิดอย่างโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์ โดยออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อาการหลอนลดลง คิดและมองตนเองในแง่ที่ดีขึ้น รู้สึกกระสับกระส่ายน้อยลง และช่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย 

เกี่ยวกับยาคาริพราซีน

กลุ่มยา ยาต้านอาการทางจิต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่มีการระบุ category ไว้ และยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่ามีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ หรือเกิดการแท้งบุตรหรือไม่

คำเตือนในการใช้ยาคาริพราซีน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางการแพทย์ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองหรือมีลิ่มเลือด คอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือนอนอย่างช้า ๆ และระมัดระวังในการขึ้นลงบันไดขณะใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะและง่วงซึม ซึ่งเป็นสาเหตุของการหกล้ม อุบัติเหตุ หรืออาการเจ็บป่วยร้ายแรง
  • เนื่องจากร่างกายอาจไวต่ออุณหภูมิอย่างภาวะร้อนจัด ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำหรือมีอุณหภูมิสูงในระหว่างที่ใช้ยา และยังควรดื่มน้ำให้มากในขณะที่ออกกำลังกายหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงด้วย 
  • ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือด ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจตามคำสั่งของแพทย์บ่อยครั้งขณะใช้ยานี้
  • ผู้สูงอายุอาจไวต่อผลข้างเคียงจากตัวยาโดยเฉพาะอาการชัก ง่วงซึม เวียนศีรษะ รู้สึกคล้ายจะหมดสติ สับสน กลุ่มอาการยึกยือ มีปัญหาในการกลืน รวมไปถึงผลข้างเคียงที่ร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากการใช้ยาต้านอาการทางจิตในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการถอนยา มีปัญหาในการหายใจ การรับอาหาร อาการสั่น และอาจพบภาวะกล้ามเนื้อแข็งเกร็งในทารกแรกเกิดได้ 
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์อาจถูกติดตามผลข้างเคียงของยา Cariprazine ต่อทารกในครรภ์ 
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมร่วมไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยานี้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

ปริมาณการใช้ยาคาริพราซีน

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคจิตเภท
ตัวอย่างการใช้ยา Cariprazine เพื่อรักษารักษาโรคจิตเภท

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยา 1.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นอาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 3 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งในวันที่ 2 สำหรับการปรับปริมาณยาในครั้งถัดไปควรเพิ่มขึ้นครั้งละ 1.5-3 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับผลการรักษาและความทนต่อผลข้างเคียงของยา จากนั้นรับประทานยาต่อเนื่องที่ปริมาณ 1.5-6 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยมีปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน 

รักษาโรคไบโพลาร์
ตัวอย่างการใช้ยา Cariprazine เพื่อรักษารักษาโรคไบโพลาร์

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยา 1.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นอาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 3 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งในวันที่ 2 สำหรับการปรับปริมาณยาในครั้งถัดไปควรเพิ่มขึ้นครั้งละ 1.5-3 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับผลการรักษาและความทนต่อผลข้างเคียงของยา จากนั้นรับประทานยาต่อเนื่องที่ปริมาณ 1.5-6 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยมีปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน 

การใช้ยาคาริพราซีน

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยอาจะต้องรับประทานยานี้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ และหากอาการไม่ดีขึ้นก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ 
  • การใช้ยาในปริมาณมากหรือใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งอาจทำให้มีอาการสั่นหรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้  
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในระหว่างการใช้ยา
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคาริพราซีน

โดยปกติยา Cariprazine มักส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อผิดปกติ รู้สึกไม่สบายท้อง อาเจียน เวียนศีรษะ รู้สึกกระสับกระส่าย ง่วงซึม เหนื่อยล้า น้ำลายไหล มองเห็นเป็นภาพเบลอ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ท้องผูก เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษหายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • ชาหรืออ่อนแรงโดยเฉพาะร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน
  • ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าไม่ได้
  • มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือการพูดคุย
  • เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ
  • ชัก
  • กลืนลำบากหรืออาจสำลักอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอหรือปาก มีแผลที่ผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก รู้สึกคล้ายจะหมดสติ เป็นต้น
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการ เช่น กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น ปากแห้ง ลมหายใจเป็นกลิ่นผลไม้ เป็นต้น
  • มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก มีไข้สูง เหงื่อออก สับสน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ สั่น รู้สึกคล้ายจะหมดสติ เป็นต้น
  • Tardive Dyskinesia ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น แขน และขา

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Adjustment Disorders (ภาวะการปรับตัวผิดปกติ)
  • Tardive Dyskinesia
  • ติดการพนัน (Compulsive Gambling)