Drug name: โลโซโพรเฟน-loxoprofen

Description:

โลโซโพรเฟน (Loxoprofen)

โลโซโพรเฟน (Loxoprofen)

Share:

Loxoprofen (โลโซโพรเฟน) เป็นยารักษาอาการปวดและอักเสบของโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ เช่น ข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โดยตัวยาจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase: COX) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบออกมา จึงช่วยให้อาการที่เกิดขึ้นทุเลาลง

เกี่ยวกับยา Loxoprofen

กลุ่มยา ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs)
ประเภทยา ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการปวดและอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้

คำเตือนในการใช้ยา Loxoprofen

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Loxoprofen ยาในกลุ่มเอ็นเสด ยาแอสไพริน รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Loxoprofen จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) หรือยาวาร์ฟาริน (Warfarin)  
  • ห้ามใช้ยา Loxoprofen ในผู้ป่วยไข้เลือดออก มีปัญหาเลือดไหลไม่หยุด โรคหลอดเลือดหัวใจที่รุนแรง ภาวะหัวใจวายที่รุนแรง โรคตับหรือโรคไตที่รุนแรง กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นทะลุ มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยากลุ่มเอ็นเสด และสตรีมีครรภ์ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย   
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติทางสุขภาพใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา Loxoprofen โดยเฉพาะแผลในกระเพาอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับตับหรือไต โรคหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ขณะใช้ยา Loxoprofen เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะตัวยาอาจทำให้มึนงงหรือการมองเห็นผิดปกติ 

ปริมาณการใช้ยา Loxoprofen

โดยทั่วไป ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Loxoprofen จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา สำหรับการรักษาอาการปวดและอักเสบของโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อในผู้ใหญ่ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปริมาณ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือ 120 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 

การใช้ยา Loxoprofen

วิธีการใช้ยา Loxoprofen เพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดปริมาณยาและระยะเวลาในการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือรับประทานทันทีหลังมื้ออาหาร
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ควรใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
  • หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดแล้วพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Loxoprofen

ยา Loxoprofen อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร เช่น แสบร้อนกลางอก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง ไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหรือยิ่งรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์

ในกรณีที่พบสัญญาณของการแพ้ยา อย่างอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น คัน ผื่นแดง ผิวลอก และลมพิษ รวมถึงอาการอื่น ๆ อาทิ เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ตาเหลือง ตัวเหลือง อาเจียนออกมาคล้ายสีกากกาแฟ ปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีสีขุ่น อุจจาระปนเลือด เป็นสีดำหรือคล้ายยางมะตอย หรือปวดท้องอย่างรุนแรง ควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน         

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Septic Arthritis
  • ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis)
  • โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis)