Drug name: นิโคลซาไมด์-niclosamide

Description:

นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)

นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)

Share:

Niclosamide (นิโคลซาไมด์) เป็นยารักษาการติดเชื้อพยาธิตัวตืด เช่น พยาธิตัวตืดปลา พยาธิตัวตืดหมู พยาธิตัวตืดวัว หรือพยาธิตัวตืดแคระ โดยตัวยาจะช่วยกำจัดพยาธิตัวตืด ซึ่งจะถูกขับออกมาผ่านการขับถ่ายในที่สุด ทั้งนี้ ยา Niclosamide รักษาได้เพียงพยาธิตัวตืดเท่านั้น ไม่อาจรักษาพยาธิชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น พยาธิตัวกลมหรือพยาธิเข็มหมุด

เกี่ยวกับยา Niclosamide

กลุ่มยา ยาถ่ายพยาธิ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาพยาธิตัวตืด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและทารกมากที่สุด

คำเตือนในการใช้ยา Niclosamide

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Niclosamide รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจกระทบต่อสุขภาพได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง 
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติทางสุขภาพใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา เช่น แพ้อาหาร แพ้สารกันเสีย แพ้ขนสัตว์หรือสัตว์เลี้ยง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ขณะใช้ยานี้
  • ไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมาใช้เองหรือใช้เป็นประจำโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจเสี่ยงกินยาไม่ถูกโรคหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ปริมาณการใช้ยา Niclosamide

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

พยาตัวตืดหมู

ตัวอย่างการใช้ยา Niclosamide เพื่อรักษาพยาตัวตืดหมู 

ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 2 กรัม วันละ 1 ครั้งหลังรับประทานอาหารเช้า
เด็กอายุ 2–6 ปี ใช้ยาปริมาณ 1 กรัม วันละ 1 ครั้งหลังรับประทานอาหารเช้า
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้ยาปริมาณ 0.5 กรัม วันละ 1 ครั้งหลังรับประทานอาหารเช้า  

พยาธิตัวตืดแคระ

ตัวอย่างการใช้ยา Niclosamide เพื่อรักษาพยาตัวตืดแคระ

ผู้ใหญ่ เริ่มใช้ยาปริมาณ 2 กรัม ในวันแรก จากนั้นให้ใช้ยาปริมาณ 1 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน
เด็กอายุ 2–6 ปี เริ่มใช้ยาปริมาณ 1 กรัม ในวันแรก จากนั้นให้ใช้ยาปริมาณ 0.5 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เริ่มใช้ยาปริมาณ 0.5 กรัม ในวันแรก จากนั้นให้ใช้ยาปริมาณ 0.25 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน 

พยาธิตัวตืดปลาหรือพยาธิตัวตืดวัว

ตัวอย่างการใช้ยา Niclosamide เพื่อรักษาพยาตัวตืดปลาหรือวัว 

ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 1 กรัม หลังรับประทานอาหารเช้า จากนั้นเว้นระยะประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยใช้ยาอีก 1 กรัม
เด็กอายุ 2–6 ปี ใช้ยาปริมาณ 0.5 กรัม หลังรับประทานอาหารเช้า จากนั้นเว้นระยะประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยใช้ยาอีก 0.5 กรัม
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้ยาปริมาณ 0.25 กรัม หลังรับประทานอาหารเช้า จากนั้นเว้นระยะประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยใช้ยาอีก 0.25 กรัม

การใช้ยา Niclosamide

วิธีการใช้ยา Niclosamide เพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือรับประทานทันทีหลังมื้ออาหาร เพื่อป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน 
  • ผู้ป่วยควรบดหรือเคี้ยวยาก่อนกลืนแล้วดื่มน้ำตามเล็กน้อย สำหรับผู้ป่วยเด็กควรบดยาให้เป็นผงและนำไปผสมกับน้ำเล็กน้อยเพื่อให้ยาจับตัวกันแล้วจึงรับประทานทันที
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาระบายหลังใช้ยา Niclosamide ประมาณ 1–2 ชั่วโมง เพื่อถ่ายตัวพยาธิและไข่พยาธิออกไป
  • ผู้ป่วยควรรักษาความสะอาดและหมั่นดูแลสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร หลังหยิบจับอาหารสด หรือหลังการใช้ห้องน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิชนิดต่าง ๆ ซ้ำ
  • หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาไปแล้ว 2–3 วัน หรือมีอาการแย่ลงหลังใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว 
  • ในกรณีที่ลืมใช้ยา ควรใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า 
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Niclosamide

ผู้ป่วยที่ใช้ยานิโคลซาไมด์อาจเกิดอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รวมถึงอาการที่พบได้ยาก เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม รสชาติในปากเปลี่ยนแปลงไป ผื่นคันที่ผิวหนัง หรือคันบริเวณทวารหนัก ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือทวีความรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที 

ทั้งนี้ แม้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้นหลังจากใช้ยา แต่หากผู้ป่วยพบสัญญาณของการแพ้ยาหรือผลข้างเคียงอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน