Drug name: ริซาทริปแทน

Description:

ริซาทริปแทน

ริซาทริปแทน

Share:

Rizatriptan (ริซาทริปแทน) เป็นยาในกลุ่มซีเล็คทีฟ เซโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective Serotonin Receptor Agonists: SSRI) ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนและบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง เป็นต้น โดยยานี้ออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนิน ซึ่งทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัวแคบลง ช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณความรู้สึกเจ็บปวดไปยังสมอง และปิดกั้นการปล่อยสารบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ของไมเกรน แต่ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันหรือลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนได้

เกี่ยวกับยา Rizatriptan

กลุ่มยา ซีเล็คทีฟ เซโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Rizatriptan

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยา Rizatriptan รวมถึงการแพ้ส่วนประกอบของยาและสารชนิดอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์และภาวะเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคตับ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ ผู้ที่ประสบภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีโรคที่ต้องใช้ยาโพรพราโนลอลในการรักษา
  • ห้ามใช้ยานี้หากภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการใช้ยาชนิดอื่นรักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน และหากใช้ยากลุ่มเออร์กอตอย่างเออร์โกตามีน ไดไฮโดรเออร์โกตามีน เออร์โกโนวีน และเมทิลเออร์โกโนวีน
  • ห้ามใช้ยานี้หากภายใน 14 วันที่ผ่านมามีการใช้ยากลุ่ม MAOI อย่างลีเนโซลิด ฟีเนลซีน ไอโซคาร์บอกซาซิด เซเลกิลีน ทรานิลซัยโปรมีน เมทิลีนบลู และราซากิลีน
  • ผู้ป่วยหรือผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะเจ็บหน้าอก โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตที่อาจส่งผลให้ร่างกายขาดเลือด มีอาการชัก รวมถึงผู้ที่มีอาการปวดศีรษะชนิดอื่น ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยา Rizatriptan ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน อยู่ในวัยหมดประจำเดือน สูบบุหรี่ มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง มีคอเลสเตอรอลสูง เป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือเคยมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น
  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ห้ามใช้ยาชนิดนี้
  • ผู้สูงอายุมักไวต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ จึงควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยา Rizatriptan ชนิดแตกตัวในช่องปากอาจมีส่วนผสมของฟีนิลอะลานีน ดังนั้น ผู้ที่ป่วยด้วยโรคฟีนิลคีโตนูเรียควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากยา Rizatriptan อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ไม่ควรให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาจะถูกส่งผ่านทางน้ำนมหรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ปริมาณการใช้ยา Rizatriptan

อาการปวดศีรษะไมเกรน
ตัวอย่างการใช้ยา Rizatriptan เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก หากเกิดอาการขึ้นซ้ำอีกครั้ง ผู้ป่วยอาจรับประทานยาอีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม โดยรับประทานหลังจากใช้ยาครั้งแรกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

เด็ก สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัม ให้รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ส่วนเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม ให้รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และห้ามรับประทานยาเกิน 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง

การใช้ยา Rizatriptan

  • ใช้ยา Rizatriptan ทันทีที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่อยู่บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ครั้งแรกที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • รับประทานยา Rizatriptan ชนิดเม็ดทั่วไปโดยกลืนยาลงไปทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำ ส่วนยาเม็ดชนิดแตกตัวในช่องปากต้องปล่อยให้ยาละลายในปากโดยห้ามเคี้ยวหรือกลืนทั้งเม็ด เมื่อยาละลายหมดแล้วจึงดื่มน้ำตาม
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด เพราะการใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • ห้ามใช้ยามากกว่า 10 วันภายในระยะเวลา 1 เดือน หากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนมากกว่า 4 ครั้งภายใน 1 เดือน หรือใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ควรเข้ารับการตรวจระดับความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด ให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Rizatriptan

การใช้ยา Rizatriptan อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ง่วงซึม รู้สึกเจ็บหรือแน่นที่หน้าอกหรือลำคอ หน้าแดง มีอาการเหน็บชา รู้สึกร้อน และอาจรู้สึกคล้ายถูกเข็มหรือของแหลมทิ่ม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

  • สัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น
  • รู้สึกเย็นหรือชาบริเวณเท้าและมือ ปลายมือหรือปลายเท้าซีด
  • ปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ท้องเสีย และอุจจาระมีเลือดปน
  • การได้ยินผิดปกติ
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ
  • อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น รู้สึกเจ็บหรือเหมือนถูกกดที่หน้าอก ความรู้สึกเจ็บแพร่กระจายไปยังบริเวณขากรรไกรหรือไหล่ คลื่นไส้ และมีเหงื่อออกมาก เป็นต้น
  • กลุ่มอาการระดับสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ซึ่งอาจมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เห็นภาพหลอน กระสับกระส่าย มีไข้ สูญเสียการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย กล้ามเนื้อกระตุก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และเป็นลม เป็นต้น
  • อาการที่เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น รู้สึกชาและอ่อนแรง ปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการทรงตัว เป็นต้น
  • อาการของภาวะความดันโลหิตสูงในระดับที่อาจเป็นอันตราย เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง มีการมองเห็นที่เปลี่ยนไป รู้สึกวิตกกังวล ได้ยินเสียงดังหึ่ง ๆ ในหู หายใจไม่อิ่ม รู้สึกสับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีอาการชัก เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Infective Endocarditis
  • PDA (Patent Ductus Arteriosus)
  • Pectus Excavatum