Drug name: loperamide

Description:

Loperamide (ยาโลเพอราไมด์)

Loperamide (ยาโลเพอราไมด์)

Share:

Loperamide (ยาโลเพอราไมด์) เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แต่ไม่สามารถใช้รักษาสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ท้องเสียได้ จึงห้ามใช้กับอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โดยยามีกลไกการออกฤทธิ์ช่วยทำให้การบีบตัวของลำไส้และทำให้น้ำในอุจจาระลดลง อย่างไรก็ตาม ยา Loperamide มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

เกี่ยวกับยา Loperamide

กลุ่มยา ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrheals)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องเสีย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน


คำเตือนของการใช้ยา Loperamide

  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากเคยมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบในยานี้ รวมไปถึงยาอื่น ๆ
  • ก่อนใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากกำลังใช้ยาอื่น ๆ ได้แก่ ยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาที่ซื้อใช้เอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะเมื่อใช้ร่วมกับส่วนประกอบบางชนิดของยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้
  • ไม่ควรใช้ยาหรือควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการปวดท้องที่ไม่ใช่ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืดบวม ปวดท้องรุนแรง ท้องอืด อุจจาระดำหรือมีมูกเลือดปน มีไข้ ท้องเสียมากกว่า 2 วัน และผู้ที่มีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือเป็นโรคเอดส์
  • ยานี้อาจมีผลกระทบต่อคลื่นไฟฟ้าของหัวใจที่ผิดปกติ (QT Prolongation)
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือง่วงนอน ดังนั้น ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายและต้องใช้ความระมัดระวัง นอกจากนั้น ควรจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่คลื่นไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ (QT Prolongation)
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ได้ง่าย โดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะ นอกจากนั้น เด็กยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย
  • ยาบางชนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อยา Loperamide โดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ
    • ยาควินิดีน (Quinidine) หรือยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา Loperamide
    • ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพยาลดลง

ปริมาณการใช้ยา Loperamide

ท้องเสียแบบฉับพลัน

ผู้ใหญj: รับประทานขนาดเริ่มต้น 2 แคปซูล และตามด้วย 1 แคปซูล ภายหลังจากที่ขับถ่าย

ท้องเสียแบบเรื้อรัง

ผู้ใหญ่: รับประทานขนาดเริ่มต้น 2 แคปซูล ต่อวัน และอาจปรับขนาดยาหากถ่ายอุจจาระแข็งตัวขึ้น 1-2 ครั้ง ใน 1 วัน โดยขนาดยาปกติ คือ 1-6 แคปซูลต่อวัน ปริมาณการใช้ยาสูงสุดสำหรับท้องเสียเฉียบพลันและเรื้อรังไม่เกิน 8 แคปซูลต่อวัน

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Loperamide

ควรใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

  • ยานี้สามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่าที่แพทย์แนะนำ หรือใช้เป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง โดยไม่ได้พบแพทย์
  • หากอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าและหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น หากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Loperamide

ระหว่างใช้ยาอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หากเป็นต่อเนื่องหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ ได้แก่ ปากแห้ง ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องผูก เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอกจากนั้น หากพบว่ามีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยาที่รุนแรง ได้แก่ ผื่น คัน ลมพิษ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้าบวม ปากบวม หรือลิ้นบวม
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
  • มีอาการบวม แดง แผลพุพอง หรือผิวซีด
  • ท้องอืด ท้องบวม หรือปวดท้อง
  • อุจจาระดำหรือมีมูกเลือดปน  
  • ตาพร่า
  • มองเห็นไม่ชัดเจน

นอกจากนั้น อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ เกิดขึ้นได้นอกเหนือจากอาการข้างต้น ซึ่งหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Hemolytic Uremic Syndrome
  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • การติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter Infection)