Drug name: calcium-gluconate-แคลเซียมกลูโคเนต

Description:

Calcium Gluconate (แคลเซียมกลูโคเนต)

Calcium Gluconate (แคลเซียมกลูโคเนต)

Share:

Calcium Gluconate (แคลเซียมกลูโคเนต) เป็นยาแคลเซียมเสริมที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากการขาดแคลเซียมหรือมีระดับแคลเซียมต่ำ เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อน โรคเกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์ โรคกล้ามเนื้อบางชนิด เป็นต้น ทั้งนี้ แคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอย่างกระดูก ระบบประสาท หัวใจ และกล้ามเนื้อ ดังนั้น แพทย์จึงต้องให้ผู้ป่วยรับประทานแคลเซียมเสริมเพื่อรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับ Calcium Gluconate

กลุ่มยา อาหารเสริม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำและโรคที่เกิดจากการขาดแคลเซียม
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ Calcium Gluconate

  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือยาอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยเฉพาะภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ นิ่วในไต โรคไต และโรคมะเร็ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาชนิดใดก็ตามที่กำลังใช้อยู่ เพราะ Calcium Gluconate และยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียมนั้นอาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมยาบางชนิดได้ยาก
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์ต้องปรับปริมาณยาให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารก

ปริมาณการใช้ Calcium Gluconate

ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

ผู้ใหญ่

  • ยารับประทาน ใช้ยา Calcium Gluconate ชนิดรับประทานในปริมาณวันละ 500-2,000 มิลลิกรัม โดยรับประทาน 2-4 ครั้งต่อวัน
  • ยาฉีด ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 500-2,000 มิลลิกรัม โดยฉีดเพียงครั้งเดียว และไม่ควรเกิน 0.5-2 มิลลิลิตรต่อนาที หรืออาจเพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็น ซึ่งปริมาณใน 1 วัน ควรอยู่ระหว่าง 1,000-15,000 มิลลิกรัม และสามารถแบ่งใช้ยาได้หลายครั้ง หรือหากอาการไม่ดีขึ้น ให้ใช้ซ้ำใน 1-3 วันหลังให้ยารอบแรก

เด็กแรกเกิด-อายุ 18 ปี

ให้สารละลาย Calcium Gluconate ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิลิตร

ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง หรือภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงอย่างรุนแรง

ผู้ใหญ่

ให้สารละลาย Calcium Gluconate ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 10 มิลลิลิตร เป็นเวลา 2 นาทีขึ้นไป และให้ซ้ำทุก 10 นาที หากมีความจำเป็น

เด็กทารก-อายุ 18 ปี

ให้สารละลาย Calcium Gluconate ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ เข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้ปริมาณสูงสุดไม่เกินครั้งละ 20 มิลลิลิตร

การใช้ Calcium Gluconate

  • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก โดยต้องไม่ใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์แนะนำ
  • ส่วนใหญ่ Calcium Gluconate มักถูกผลิตออกมาในรูปแบบยาที่เหมาะกับการรับประทานพร้อมอาหาร
  • หากรับประทานยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่น อาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาตัวอื่นได้ยาก จึงควรรับประทานยาชนิดอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อน หรือ 6 ชั่วโมงหลังจากใช้ยานี้
  • หากลืมรับประทานยาตามกำหนด ให้รับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปมื้อถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทน
  • ระหว่างที่ใช้ยา Calcium Gluconate ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรม รวมทั้งควบคุมการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มตามแผนการรักษาของแพทย์ควบคู่ไปด้วย
  • เข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อติดตามอาการและรับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพราะแพทย์อาจต้องปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • หากใช้ยาเม็ดชนิดละลายน้ำหรือยาเม็ดฟู่ ควรละลายยาในแก้วก่อนดื่ม ไม่ควรเคี้ยวหรือกลืนยาลงไปทั้งเม็ด
  • หากใช้ Calcium Gluconate ชนิดน้ำ ควรวัดปริมาณด้วยอุปกรณ์ที่แม่นยำหรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ
  • ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้นหรือความร้อน และห้ามแช่ไว้ในตู้เย็น

ผลข้างเคียงจากการใช้ Calcium Gluconate

การใช้ Calcium Gluconate อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงอย่างอาการท้องไส้ปั่นป่วน ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือท้องผูกได้ หากอาการดังกล่าวรุนแรงขึ้นหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ ใบหน้า ลิ้น หรือคอบวม เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก เป็นต้น
  • อาการของภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย รู้สึกสับสน เหนื่อย อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกระดูก เป็นต้น
  • อาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะน้อย ตัวบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เบื่ออาหาร เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypocalcemia)