Drug name: ยาเค

Description:

ยาเค

ยาเค

Share:

ยาเค (Ketamine) เป็นยาในกลุ่มยาระงับความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์เร็ว ช่วยระงับปวดและขยายหลอดลม มักนำมาใช้ระงับความรู้สึกก่อนทำหัตถการ หรือการทดสอบต่าง ๆ ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดและความอึดอัดไม่สบายตัวที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งนำไปใช้เป็นยาสลบก่อนการผ่าตัดหรือศัลยกรรม

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ผู้ที่นำยาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ใช้เป็นยาเสพติด เพื่อหวังฤทธิ์ในการหลอนประสาท และผู้ที่ผลิต นำเข้า ส่งออกยาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีใบอนุญาตนำผ่าน ต้องเสียค่าปรับและระวางโทษจำคุก

เกี่ยวกับยาเค

กลุ่มยา ยาระงับความรู้สึก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ระงับความรู้สึก หรือใช้เป็นยาสลบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยาเค

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ ไม่ควรใช้ยาเค

  • แพ้ยาและส่วนประกอบอื่น ๆ ในยาเค
  • ใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitors: MAOI) เช่น ยาฟีเนลซีน (Phenelzine) และยาลีเนโซลิด (Linezolid) ในช่วง 14 วันก่อนหน้า
  • มีความดันโลหิตสูง และมีปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายหากระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะยาอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา

  • ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือน เพราะยาอาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ได้
  • กำลังให้นมบุตร เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลที่อาจเกิดขึ้นกับทารก หากยาเคถูกส่งผ่านทางน้ำนม
  • เพิ่งดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือเคยเป็นโรคติดสุรา
  • เป็นโรคหัวใจ 

การใช้ยาบางชนิดร่วมกับยา Ketamin อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นได้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่กำลังใช้ เริ่มใช้ หรือเพิ่งหยุดใช้ โดยเฉพาะยาดังต่อไปนี้

  • ยาพาราเซตามอล
  • ยาแอสไพริน 
  • ยาโพรพอกซิฟีน (Propoxyphene)
  • ยาเซเลกิลีน (Selegiline)
  • ยาฟีเนลซีน (Phenelzine)
  • ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid)
  • ยาทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine)
  • ยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium Oxybate)
  • ยาไดอะซีแพม (Diazepam) 

ปริมาณการใช้ยาเค

เพื่อระงับความรู้สึก

  • เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
    • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 1-4.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดช้า ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 วินาที  (ยาปริมาณ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมจะออกฤทธิ์ภายใน 30 วินาที และออกฤทธิ์นาน 5-10 นาที เมื่อใช้ระงับความรู้สึกในการผ่าตัด)
    • ยาหยดทางหลอดเลือดดำปริมาณ 1-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในอัตรา 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
    • ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 6.5-13 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ยาปริมาณ 9-13 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมจะออกฤทธิ์นาน 5-10 นาที เมื่อใช้ระงับความรู้สึกในการผ่าตัด)

การใช้ยาเค

  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกแปลกหรือสับสนในตอนแรกหลังยาหมดฤทธิ์ จึงควรงดอาหาร เครื่องดื่ม หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่แพทย์ระบุ
  • ภายใน 24 ชั่วโมงหลังใช้ยา หากปรากฏผลข้างเคียงรุนแรง เช่น สับสนมึนงง ประสาทหลอน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ห้ามขับรถเองหลังการทำหัตถการทางการแพทย์หรือผ่าตัดที่มีการใช้ยาเค ควรให้ผู้อื่นไปส่ง
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรและขับรถ อย่างน้อยภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับยา
  • แพทย์อาจต้องสังเกตการหายใจ การทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต และสัญญาณอื่น ๆ ของผู้ป่วยระหว่างที่ใช้ยาอย่างใกล้ชิด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเค

หลังจากยาเคหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยอาจปรากฏอาการบางอย่าง เช่น ประสาทหลอน สับสน ฝันร้าย หรือแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ โดยไร้เหตุผล รวมไปถึงผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • มีผื่นคันขึ้นชั่วคราวหรือมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการตากระตุก น้ำตาไหล
  • เห็นภาพซ้อน
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ทำให้หายใจช้า เบา และหยุดหายใจชั่วคราว
  • ความดันต่ำ
  • ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็ว ภาวะหัวใจเต้นช้า และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • กล้ามเนื้อเกิดภาวะตึงตัวเพิ่มขึ้นจนคล้ายกับอาการชัก
  • มีสารคัดหลั่งและเสมหะออกมาที่หลอดลมมาก
  • ภาวะเกร็งของกล่องเสียง
  • สามารถพบอาการติดยาได้ หากใช้ติดต่อกันบ่อยครั้ง

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • หลอน