Drug name: มิลนาซิแพรน

Description:

มิลนาซิแพรน

มิลนาซิแพรน

Share:

Milnacipran (มิลนาซิแพรน) เป็นยารักษาภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกระดูก และเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง และอาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย  

เกี่ยวกับยามิลนาซิแพรน

กลุ่มยา ยากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitor: SNRI)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด
ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์
หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยามิลนาซิแพรน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรคไต โรคตับ การดื่มแอลกอฮอล์ ต้อหิน โรคทางจิตเวช การพยายามฆ่าตัวตาย ความดันโลหิตสูง ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ชัก ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ ปัสสาวะได้ยาก หรือรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ  
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาฟีเนลซีน และยาทรานิลซัยโปรมีน หรือยารักษาโรคพาร์กินสันอย่างยาเซเลกิลีนหรือยาราซากิลีนภายใน 14 วันก่อนการใช้ยา Milnacipran เพราะอาจทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงอย่างมาก
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้เครื่องจักรหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือด ความดันโลหิต ไปจนถึงอัตราการเต้นของหัวใจตามคำสั่งของแพทย์ขณะใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอาจเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่าปกติ โดยอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียก่อนการใช้ยานี้ โดยเฉพาะการใช้ยานี้ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติในทารกแรกเกิดได้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยา Milnacipran ในผู้ป่วยเด็ก

ปริมาณการใช้ยามิลนาซิแพรน

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษารักษาภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย
ตัวอย่างการใช้ยา Milnacipran เพื่อรักษารักษาภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย  

ผู้ใหญ่  

ในวันแรกของการรักษา รับประทานยาปริมาณ 12.5 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง 

วันที่ 2 และ 3 รับประทานยาปริมาณ 12.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 

วันที่ 4-7 รับประทานยาปริมาณ 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 

หลังจากนั้น รับประทานยาปริมาณ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยอาจเพิ่มปริมาณยาตามการตอบสนองของผู้ป่วยได้จนถึงปริมาณ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 

การใช้ยามิลนาซิแพรน

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ หากมีอาการคลื่นไส้ แนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ครบตามกำหนดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดการถอนยาได้ หากต้องการหยุดใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการลดปริมาณยา
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยามิลนาซิแพรน

ยา Milnacipran อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องผูก ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น ลมพิษ คัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาในการหายใจ การกลืน หรือการพูดคุย เสียงแหบผิดปกติ อาการบวมบริเวณปาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • มีสัญญาณของระดับโซเดียมในร่างกายลดต่ำลง เช่น ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ สับสน อ่อนแรง ชัก หรือมีปัญหาในการทรงตัว เป็นต้น
  • เลือดออกผิดปกติ เช่น อาเจียนเป็นเลือดหรือหรือมีลักษณะคล้ายกากกาแฟ ไอเป็นเลือด ปัสสาวะปนเลือด อุจจาระเป็นสีดำ สีแดง หรือสีโคลน เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกรุนแรงหรือไม่ยอมหยุดไหล เป็นต้น
  • มีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระสีซีด รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร ไม่สบายท้องหรือปวดท้อง อาเจียน ดีซ่าน เป็นต้น
  • มีสัญญาณของความดันโลหิตสูง เช่น ปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ หรือสายตาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นต้น
  • กลุ่มอาการเซโรโทนินซินโดรม เช่น กระสับกระส่าย เสียการทรงตัว สับสน เห็นภาพหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังแดง กล้ามเนื้อกระตุกหรือแข็งเกร็ง ชัก สั่น มีเหงื่อออกมาก ท้องเสียอย่างรุนแรง ไม่สบายท้อง อาเจียน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น 
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดปกติ
  • ชัก
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง
  • ปวดบริเวณอัณฑะมีปัญหาเรื่องเพศอย่างความสนใจเรื่องเพศลดลงหรือมีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิ

นอกจากนั้น ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา หากมีอาการ เช่น ปวดตา การมองเห็นเปลี่ยนไปจากเดิม บวมแดงรอบดวงตา เป็นต้น ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Baker's cyst
  • Bursitis
  • Growing Pain (ภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต)